I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part I)


Tabula Rasa นอกจากจะใช่วีดีโอเกมแล้ว ยังเป็นแนวคิดทางปรัชญา แปลด้วยสำนวนไทยก็คงประมาณ "เด็กคือผ้าขาว" หมายถึงคนเราเมื่อเกิดมาแล้วไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย เราเรียนรู้ รับประสบการณ์อะไรลงไป ก็จะพัฒนารูปแบบความคิดเราให้เป็นไปตามประสบการณ์นั้นๆ

เอมมานูเอล คานท์ตั้งใจถกเถียงกับ Tabula Rasa เขาบอกว่าในโลกนี้มีความคิดบางอย่างที่ต่อให้ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ตรง เราก็มีอยู่ในหัวได้ เช่น แนวคิดเรื่องเทศะและกาละ (space and time) โดยเฉพาะเรื่องกาละ หรือเรื่องเวลา คานท์พูดเลยว่าเราไม่สามารถรับรู้มันจากประสบการณ์ตรงได้ มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความเข้าใจเรื่องเวลา (หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพในการพัฒนาความเข้าใจตรงนี้โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์)

ซึ่งถ้าแค่นี้ก็ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่คานท์ยังไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง นอกจากเทศะและกาละ ยังมีความรู้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ความรู้เหล่านั้นต่างหากที่เป็นฐานให้มนุษย์เราสามารถเข้าใจประสบการณ์ได้ อธิบายให้ละเอียดขึ้นคือ ไม่ว่าเราจะรับรู้สรรพสิ่งอะไรเข้าไปก็ตาม สรรพสิ่งนั้นจะมีคุณสมบัติมากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ (ต่อให้เป็นหน่วยมูลฐานที่เล็กที่สุดอย่าง จุด ก็ยังต้องรู้ว่าระยะห่างตามแนวแกน x แกน y และแกน z ของจุดนั้นเป็นเท่าไหร่) เมื่อเรารับรู้คุณสมบัติเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีทางเลือกอีกนับร้อยในการผสานข้อมูลเหล่านั้นเป็นภาพตัวแทนของสรรพสิ่งในหัว (ถ้าเราไม่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสามแกนคาทีเชียน ตัวเลขพิกัดจุดสามตัวนั้นก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย)

ความสามารถในการร้อยเรียงข้อมูล เอามาสร้างเป็นภาพในหัวนั่นเอง คือพื้นฐานของประสบการณ์ ถ้าเราปราศจากความสามารถในการร้อยเรียงข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลอันซับซ้อน ประสบการณ์ก็จะไม่มีความหมายอะไร ในทางกลับกัน เราสามารถเอาความรู้ในหัวมาผสมผสานพลิกแพลงเป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าผลลัพท์นั้นไม่สัมพันธ์กับสิ่งซึ่งอยู่ในโลกแห่งความจริง มันก็จะเป็นความรู้แบบหัวมังกุท้ายมังกร

วิธีโกหกที่แนบเนียนสุดของนักการเมืองและนักข่าวคือการปิดบังความจริง พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง โดยละเลยไม่พูดเรื่องที่เขาไม่อยากพูด แต่มีวิธีโกหกอีกวิธีซึ่งได้ผลอย่างน่ามหัศจรรย์เช่นเดียวกัน คือการพลิกศรเวลา ประธานาธิบดีบุชเคยใช้เทคนิคนี้เพื่อแสดงว่าการบุกเข้าอิรักเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยยกข้อมูลมาเปรียบเทียบว่า ปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะอเมริกาส่งกองทัพเข้าอ่าวเปอร์เชีย แต่กลายเป็นว่า ข้อมูลเชิงปริมาณตัวนั้นวัดก่อนที่จะเกิดสงครามอ่าวอีก ดังนั้นการเปิดสงครามไม่ได้มีผลกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปฏิบัติการก่อการร้าย

ฟังดูเป็นการโกหกง่ายๆ และท่าทางชาวอเมริกันจะโง่เง่าอย่างน่าเหลือเชื่อที่จับเท็จแค่นี้ไม่ได้ แต่ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว เวลาไม่มีอยู่จริงในโลกภายนอก เวลาคือการที่แต่ละบุคคลเอาเหตุและผลมาร้อยเรียงในหัว ถ้าเขาเชื่อว่าเหตุอะไรนำไปสู่ผลอะไร เขาก็จะเชื่อว่าสิ่งนั้นเกิดก่อน วิธีโกหกแบบนี้จึงได้ผลชะงัดนัก เพราะคนที่อยากเชื่อ อยากมองว่าเหตุการณ์ดำเนินไปในรูปแบบไหน ก็พร้อมจะทำสิ่งซึ่งไอนสไตน์บอกว่าเป็นไปไม่ได้ คือการย้อนเวลา เอาผลมากลายเป็นเหตุ

ระวังให้จงหนัก อย่าตกเป็นเหยื่อการย้อนศรเวลาโดยไม่รู้ตัว

No comments: