G. Debord's "The Society of the Spectacle"


The Society of the Spectacle เป็นหนังสือที่เนื้อหาใหญ่เกินตัวมากๆ ทั้งที่มันยาวแค่ 150 หน้ากว่าๆ แต่อ่านจบแล้ว หมือนเพิ่งอ่านตำรา 1000 หน้า แน่นเอี้ยดและชวนขบคิด อิจฉาคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วไปถกเถียงกันในชั้นเรียน

ดีบอร์ดพูดถึงสังคมสมัยใหม่ ว่าเป็นสังคมแห่ง "ภาพลักษณ์" จากสัมผัสทั้งห้า มนุษย์ให้ความสัมคัญกับการมองสุด และตาเรา ก็ดันเป็นเส้นประสาทที่ง่ายต่อการสร้างภาพลวงเสียด้วย (รึเปล่าหนอ เรื่องหูแว่วนี่เคยรับรู้มาบ้าง แต่รสลวงลิ้น หรือสัมผัสลวงมือนี่ไม่ค่อยจะเคยได้ยินมาก่อน) ซึ่งสังคมแห่ง "ภาพลักษณ์" นี้คือที่มาที่ไปของปัญหาหลายอย่างในปัจจุบัน ต้องย้ำว่า หลายอย่าง จริงๆ เพราะหัวข้อที่ดีบอร์ดอ้างเอ่ย มีตั้งแต่บทวิพากษ์ทุนนิยม สังคมนิยม ศิลปะ วัฒนธรรม การรับรู้เรื่องเวลา และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสถานที่ (space) รอบตัว แต่ละหัวข้อนี่หยิบยกมาเป็นหนังสือต่างหากแต่ละเล่มได้สบาย

ถ้าติดตามบลอคนี้ น่าจะพอรู้ว่าเราหัวเอียงขวาขนาดไหน มิขอพูดถึงสังคมนิยมในแง่ลบแล้วกัน เพราะทำมาบ่อยแล้ว แต่อยากพูดถึงปัญหาของทุนนิยม อันเนื่องมาจากสังคมแห่งภาพลักษณ์มากกว่า ดีบอร์ดตีโจทย์ได้ตรงจุด และตรงใจเรามาก สำหรับเราสองคน ผลกระทบแง่เสียของทุนนิยมคือ ความไม่ตรงกันระหว่าง "คุณค่าราคา" และ "คุณค่าใช้สอย" เพราะภาพลักษณ์คือสิ่งซึ่งปกครองทุกความคิด ทุกกระบวนการตัดสินใจของปัจเจก ของซึ่งมี "คุณค่าราคา" อาจมิได้มี "คุณค่าใช้สอย" อะไรเลยก็ได้ และกลับกลายเป็นว่า ทุกอย่างถูกตัดสินด้วย "คุณค่าราคา" มากกว่า "คุณค่าใช้สอย" ทั้งที่ทั้งนั้น เพราะหัวใจของระบบทุนนิยมคือตลาด ซึ่งกลศาสตร์ของการแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับ "คุณค่าราคา"

ดีบอร์ดยังพูดถึง เวลา (time) และ สถานที่ (space) ได้อย่างน่าสนใจ รวมไปถึงกำเนิดศิลปะยุคใหม่ ซึ่งก็เป็นจุดจบของศิลปะ และวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน จุดจบของศิลปะ ในสายตาดีบอร์ด คืองานที่ไม่ได้สื่อสารอะไร แต่มีไว้เพื่อ "ดู" เพื่อสร้าง "ภาพลักษณ์"

หนังสือดีมาก สุดที่จะหยิบยกทุกประเด็นมาพูดถึงจริงๆ

No comments: