E. Larson's "The Devil in the White City"


เกือบสิบปีได้แล้วมั้ง จากวันที่เรา และผู้กำกับอ่าน The Unbearable Lightness of Being เป็นครั้งแรก ตอนนั้นผู้กำกับพูดประโยคหนึ่งซึ่งโดนใจเราเด็ดๆ คือ กุนเดระถุยน้ำลายรดกฎการเขียนหนังสือข้อแรกคือ "show not tell" หรือจงแสดงให้เห็น อย่าบอกอะไรคนอ่านโต้งๆ แต่สไตล์การเขียนของกุนเดระคือ "tell and to hell with show" คือไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม อยากบอกอะไรคนอ่าน อยากโพทนาปรัชญาอะไร ก็ทำไปได้เลยตามสะดวก ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่หนังสือทุกเล่ม หรือนักเขียนทุกคนจะทำแบบกุนเดระได้ แต่มันก็ปลูกฝังนิสัยบางอย่างให้กับเราคือ เราชอบอ่านปรัชญาโต้งๆ ในนิยาย (ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเยอรมันถึงติดตรึงใจเรามากกว่าของฝรั่งเศส อเมริกา หรือชาติยุโรปอื่นๆ ยกเว้นอังกฤษ)

เพราะฉะนั้นเลยพูดต่อไปด้วยว่า The Devil in the White City เป็นหนังสือแบบที่ไม่เข้าทางเรามากๆ นี่ไม่ใช่นิยาย เป็นกึ่งสารคดี กึ่งประวัติศาสตร์ ว่าด้วย World's Fair ซึ่งจัดในชิคาโกช่วงรอยต่อศตวรรษที่แล้ว ลาร์สันเล่าถึงความพยายามของสถาปนิก และวิศวกรในการสร้าง "เมืองสีขาว" อันเป็นสถานที่จัด World's Fair รวมไปถึงชะตากรรม และจุดสิ้นสุดของงาน ขณะเดียวกันก็เอาเรื่องราวดังกล่าวไปสอดคล้องกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องน่าสยดสยองโดยโฮล์มส์ พ่อม่ายดำที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเมืองสีขาว โฮล์มส์หลอกล่อผู้หญิงร่ำรวย เมื่อหมดประโยชน์ก็กำจัดพวกหล่อนทิ้งด้วยห้องแก๊สกลไกในโรงแรมของเขา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเพรนเดอกาส ผู้ชายสติไม่ดีที่สังหารนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก ช่วงเวลาเดียวกับ World's Fair

The Devil in the White City เป็นหนังสือที่จริงๆ แล้วมีเรื่องให้ขบคิดมากมาย ตั้งแต่ความพยายามของเหล่าสถาปนิกในการบันดาลความฝัน (ประเด็นนี้ชวนให้นึกถึง The Fountainhead) วาทกรรมซึ่งอยู่เบื้องหลังการจัดงาน ความพยายามของประเทศอเมริกาในการเอาชนะ World's Fair ซึ่งจัดในฝรั่งเศสก่อนหน้านี้ สิ่งก่อสร้างศูนย์กลางของเมืองสีขาวคือชิงช้าสวรรค์ ซึ่งตั้งใจจะเอาไปชนกับหอไอเฟลโดยเฉพาะ ลาร์สันเล่าว่าสมัยนั้นชาวอเมริกันตื่นตาตื่นใจกับไอ้ชิงช้าสวรรค์นี้เป็นนักหนา เรามองย้อนกลับไปแล้วก็อดขำไม่ได้ เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าหอไอเฟลเจ๊งกว่า (และมีประโยชน์) ไอ้ชิงช้าสวรรค์อะไรนี่ตั้งเท่าไหร่

ก่อนสงครามโลก อเมริกายังไม่ใช่เจ้าโลก ความภาคภูมิใจในชิงช้าสวรรค์ ส่วนหนึ่งก็คงมาจากลัทธิชาตินิยมนั่นเอง โดยคนอเมริกาต้องแข่งขัน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศในยุโรปซึ่งเจริญกว่า พูดถึงตรงนี้ แล้วก็อดมองสังคมไทยไม่ได้ ระยะหลังนี้เหมือนคนไทย และสังคมไทยต้องปะทะกันทางค่านิยม และความคิดกับฝรั่ง และชาวต่างชาติ (ถ้าฟังสัมภาษณ์ น้องอุ้ม และคุณปรัชญากรณีเมืองคานส์ ก็จะได้ยินคาถานี้พูดซ้ำไปซ้ำมาว่าฝรั่งคิดไม่เหมือนคนไทย ฝรั่งมองไม่เหมือนคนไทย) เราจะเห็นอาการมือถือสากปากถือศีลบางอย่างของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา กล่าวคือใจหนึ่งกระเหี้ยนกระหือรืออยากได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่พอฝรั่งมาติติงอะไรหน่อย (กรณีบทความวิเคราะห์การเมืองในนิตยสารต่างชาติ) ก็จะโวยวายหาว่าฝรั่งไม่เข้าใจคนไทย ค่านิยมไทยนี่แหละเจ๋งที่สุดในโลกาแล้ว ไม่เห็นต้องไปฟังคนอื่นเลย

1 comment: