U. Eco's "Turning Back the Clock"
พอมานั่งนับนิ้วไล่รายชื่อนักเขียนในดวงใจเราแล้ว ตกใจมากเมื่อตระหนักว่าซี้แหงแก๋กันเกือบทั้งหมด ที่ยังมีชีวิตอยู่เหลือแค่มิลาน กุนเดระ และอัมเบอโต เอโค กุนเดระนั้นเลิกเขียนหนังสือไปเรียบร้อย (หรือถ้ายังเขียนอยู่ ก็นานๆ ออกที) ยังโชคดีหน่อยที่เอโคยังคงผลิตผลงานต่อเนื่อง แม้จะเน้นหนักที่บทความ มากกว่าเรื่องแต่งก็ตาม (กระนั้นเอโคก็จะแปดสิบอยู่รอมร่อ คงอยู่เขียนหนังสือให้เราอ่านได้อีกไม่นานหรอก)
Turning Back the Clock รวมบทความของเอโค ซึ่งส่วนใหญ่เขียนลงหนังสือพิมพ์อิตาลี เก่าสุดในเล่มนี้คือบทความปี 1999 เฉลิมฉลองครบรอบพันปีสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เป็นบทความที่ทั้งฮา และบ้าเลือดไปพร้อมๆ กัน ส่วนใหม่สุดเขียนประมาณปี 2004 ซึ่งก็หมายความว่าใน Turning Back the Clock เราจะได้รับทราบความคิดเห็นของผู้แต่งนิยาย The Name of the Rose ว่านักเขียนในตำนานท่านนี้คิดอย่างไรกับจอร์จ บุช สงครามอิรัก 9/11 แฮรี พอตเตอร์ รวมไปถึง รหัสลับดาวินชี (จริงๆ ประเด็นหลังน่าสนใจมากๆ เพราะรหัสลับดาวินชี ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับ Foucault's Pendulum นิยายเรื่องเอกอีกเล่มของแก)
ในบทความที่โดนใจเราสุด เอโคพูดถึงสตีเฟน ฮอว์คกิง และหลุมดำ ฮอว์คกิงออกมาประกาศว่าทฤษฎีหลุมดำที่เขาเคยร่างขึ้นมานั้นมีจุดบอด และตอนนี้เขากำลังศึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไข และพัฒนาทฤษฎีดังกล่าว เอโคตื่นเต้นกับคำประกาศตรงนี้มาก เขาชี้ให้เห็นว่านี่แหละคือจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์ provando e riprovando ซึ่งเป็นคำขวัญของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งอิตาลีในยุคแรกๆ แปลว่า "พิสูจน์ แก้ไข และปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้ง"
ในฐานะที่เราเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ โคตรเห็นด้วยกับความคิดนี้เลย วิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนให้เราค้นหา "ความจริง" วิทยาศาสตร์คือการค้นหา "ความเท็จ" ซึ่งสามารถใช้อธิบายหลักฐาน และสนับสนุนเหตุผล ซึ่งตระหนักรู้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เมื่อมีเหตุผลใหม่ หรือหลักฐานเพิ่่มเติม ความเท็จนั้นก็จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความเท็จอื่นๆ ระหว่างนั้นเอง "วิทยาการ" (เอโคย้ำความแตกต่างระหว่าง "วิทยาศาสตร์" และ "วิทยาการ") ก็นำเอาความเท็จไปแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่งมีทั้งคุณ และโทษ
จริงๆ แล้วฮอว์คกิงก็เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยที่เราเรียนนี่แหละ ตอนที่แกออกมาประกาศความผิดพลาดของตัวเองนั้น เราจำได้ว่าเป็นประเด็นชวนถกเถียงอยู่เหมือนกัน มีนักเทศน์อนุรักษ์นิยมออกมาพูดทำนองว่า "เห็นไหม สุดท้ายนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับว่าตัวเองผิด แล้วแบบนี้พวกเราจะเชื่อพวกเขาได้สักแค่ไหนกันเชียว" นักเทศน์คนนี้มองง่ายๆ ว่าเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งผิด สิ่งที่ถูกเขียนในไบเบิ้ล (ซึ่งตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์) ก็ต้องเป็นสิ่งถูก
ในบริบทแบบนี้ เราอาจจะมองนักเทศน์อย่างดูถูกดูแคลนนิดๆ ว่า "เอาอะไรที่ไหนมาพูด" แต่ในความจริง มีบริบทมากมายที่ทำให้ความคิดง่ายๆ ซึ่งแบ่งโลกเป็นสองขั้วของนักเทศน์คนนี้ได้รับการยอมรับ เราอยากขยับขยายออกไปอีกด้วยว่า ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นการศึกษา "ความเท็จ" แต่วิชาความรู้ทุกแขนง เศรษฐศาสตร์ การเมือง จิตวิทยา แพทศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จที่ต้อง "พิสูจน์ แก้ไข และปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้ง" (ไม่ใช่การโยนทิ้งแล้วบอกว่าอะไรที่ตรงข้ามกับ "ความเท็จ" เป็น "ความจริง")
การพบว่ายาสมัยใหม่มีผลข้างเคียง และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกลับไปหาสมุนไพรทั้งหมด อย่างเราก็เป็นคนที่มีปัญหาร้อนใน และยาสมัยใหม่ชนิดไหนก็ไม่เคยใช้ได้ผล (เคยมีอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า "ทีเจลเจล" แต่บริษัทที่ผลิตยาตัวนี้เจ๊งไปแล้ว) กระทั่งเมื่อได้ค้นพบเสลดพังพอน (ตามรูปข้างบน) ตั้งแต่นั้นเราก็หันมาใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาอาการร้อนในแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกกินพารา อาติเฟต คลาริติน หรือหันกลับไปหาสมุนไพรทุกประเภท
ถ้าใครที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งหมดที่พูดมานี้ ก็สามารถอ่านอีกบทความหนึ่งใน Turning Back the Clock ได้ ชื่อว่า A Dream ซึ่งเอโคเล่าความฝันเก๊ๆ ของตัวเองว่า เกิดสงครามปรมาณู ทั้งโลกถูกทำลาย เหลือแค่เขา ครอบครัว และเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆ ทั้งหมดอาศัยอยู่ในโลกเปี่ยมสุขที่ปราศจากวิทยาการ และความรู้ ทำไร่ไถนาปลูกผักปลูกสวน และอ่านหนังสือกันทั้งวันทั้งคืน (เพราะในโลกนี้ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู)
ใครจะจับน้ำเสียง irony ใน A Dream ได้มากน้อยเพียงใด ก็เป็นเรื่องต้องที่ไปหามาอ่านพิสูจน์กันเองเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment