J. Rose's "Sexuality in the Field of Vision"


เราชอบ Carrie มาก ไม่ว่าจะเป็นฉบับหนังของเดอพัลมา หรือนิยายของคิงก์ Carrie เป็นหนึ่งในนิยายเล่มแรกๆ ที่เราอ่านเป็นภาษาอังกฤษ (Thinner ของคิงก์เหมือนกันคือเล่มแรก) ฉบับหนังก็ดู และหลงรัก(?)มาตั้งแต่เด็ก กระนั้นถ้าจะมีอะไรที่เราอยากเปลี่ยน ก็คือ split screen ช่วงแครีเผางานพรอม กำลังอินอยู่ดีๆ โดน split screen เข้าไปปุ๊บ รู้สึกเหมือนถูกซัดให้หลุดออกจากโลกของภาพยนตร์ทันควัน

ใน Sexuality in the Field of Vision โรสบอกว่าเธอชอบหนังเรื่องนี้เช่นกันโดยเฉพาะฉากนี้ นักจิตวิเคราะห์สตรีวิทยาผู้นี้เชื่อว่าภาพยนตร์คือศิลปะแห่งการนำเสนอ (representation) เสน่ห์ของภาพยนตร์คือผู้เสพสามารถ disavowal หรือแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ตนกำลังดู อีกนัยหนึ่งคือสะกดจิตตัวเองว่าสิ่งที่ฉันเห็นมันไม่จริง (เป็นแค่ภาพ) แต่ตอนนี้ฉันจะยอมโง่ และเชื่อว่ามันคือความจริงไปก่อน พูดง่ายๆ สำหรับโรสแล้ว หนังที่ดีต้องมีความ meta อยู่บ้าง ไม่ใช่หลอกให้คนดูเชื่อสนิทตั้งแต่ต้นจนจบ (ใน Femme Fatale ภาพยนตร์ยุคหลังของเดอพัลมาก็มี split screen เหมือนกัน แต่เหมือนใช้เป็นเครื่องมือหลอกคนดู ให้อินไปกับเรื่องมากกว่า เช่นเดียวกับ split screen ของอังลีใน The Incredible Hulk)

อะไรคือคุณค่าของหนังที่ซัดคนดูออกจากโลกแห่งภาพยนตร์? โรสอ้างลากอง ผู้กล่าวว่าภาษา อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานเชื่อมต่อปัจเจกและโลกภายนอก คือศาสตร์แห่งการนำเสนอเช่นกัน เมื่อเราพูดถึง "สุนัข" คำนาม "สุนัข" ถูกใช้แทนสิ่งที่ไม่อยู่ตรงหน้า มิเช่นนั้นก็คงใช้อวัจนภาษาชี้ไปที่สุนัขเลยจะสะดวกกว่า แต่ภาษาถูกใช้ในชีวิตประจำวันจนเราลืมคุณสมบัติความเป็นปริทรรศน์ของมันไปเสีย การชมภาพยนตร์ก็คือการถูกกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงความซับซ้อนตรงนี้

หนังอีกเรื่องที่โรสชอบคือ Coma โดยเธอให้เหตุผลว่าตัวเอกเป็นผู้หญิง สืบสวนคดีฆาตกรรมในโรงพยาบาล ซึ่งธรรมดาบทบาทนี้มักเป็นของตัวละครชาย ถึงจะไม่มีเทคนิกทางภาพยนตร์แปลกๆ (ผู้กำกับ Coma ไม่ใช่ใครอื่น ก็ไมเคิล คริชตันนี่แหละ) แต่การที่ซูซาน ซาแรนดอนแสดงนำให้ "ภาพยนตร์สไตล์ฮิชคอก" ก็บ่งบอกถึงความ meta แล้ว โรสจึงอดไม่ได้จะผิดหวังนิดๆ เมื่อสุดท้ายก็เป็นไมเคิล ดักลาสขี่ม้าขาวมาช่วยนางเอก (ไม่รู้เหมือนกันโรสจะคิดอย่างไรกับหนังซุปเปอร์ฮีโรหญิงในปัจจุบัน)

พูดเรื่องหนังมาเสียยาว จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นแค่ติ่งเดียวเองของ Sexuality in the Field of Vision หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านยากมาก โรสพูดถึงสตรีวิทยาซึ่งพัฒนามาจากจิตวิเคราะห์ โดยเธอเน้นว่าความแตกต่างระหว่างผู้หญิง และผู้ชาย คือโครงสร้างหลักของภาษา พูดกันอย่างสุดโต่ง จนกว่าเด็กจะเรียนรู้ และสำนึกในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง (ขณะเดียวกันก็แยกแยะตัวเองจากเพศตรงข้ามได้) พัฒนาการทางภาษาไม่อาจเกิดขึ้นในตัวเด็กคนนั้น

ยังมีอะไรที่เราต้องศึกษาอีกมาก ถ้าวันหลัง ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติมเมื่อไหร่ คงได้แวะเวียนมาพูดถึงมันอีก

1 comment:

Anonymous said...

สำนวนเขียน.. ดีมากจริงๆ
และ นับถือค่ะกับการอ่านได้เรื่องราวและประเด็น
-- ขนาดนี้

ชื่นชม.