F. Taylor's "The Berlin Wall"


หรือว่าเรื่องบางเรื่องมันเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่าจริงๆ ด้วย

ในบทแรกของ The Berlin Wall พูดถึงสถานการณ์ในประเทศเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สดๆ ร้อนๆ ระหว่างที่เราอ่านบทนี้ก็บังเกิดความรู้สึกประหลาด คลับคล้ายคลับคลาแต่กลับไม่คุ้นเคย ประหนึ่งเหมือนกำลังชมภาคต่อของภาพยนตร์บางเรื่องซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ หรือถ้าพูดให้ถูก นี่คือภาคต่อของ “ภาพยนตร์ทุกเรื่อง” ก็ว่าได้ น่าประหลาดใจมากๆ ว่าขณะที่เหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มีตั้งแต่หนังสงครามเน้นความกล้าหาญของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของการฆ่าฝัน หนังว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มีกระทั่งหนังตลกอย่าง Life is Beautiful จนไปถึงหนังอย่างแสบๆ คันๆ อย่าง Inglourious Basterds และหนังที่พูดถึงความพ่ายแพ้ผ่านสายตาคนเยอรมันอย่าง Downfall

แต่แทบไม่มีหนังเรื่องไหนหรือหนังสือเล่มใดเลยพูดถึงเหตุการณ์หลังสงคราม เราในฐานะมนุษย์ที่เติบโตมากับสื่อ ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าทันทีที่ฮิตเลอร์ตาย ทุกอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง สงครามสิ้นสุด ชาวเยอรมันกลับมาเป็นคนดีเหมือนเดิม ทุกประเทศในยุโรปเซนต์สัญญาสันติภาพกันด้วยรอยยิ้ม เพราะฉะนั้นสารภาพเลยว่าแปลกใจมากๆ เมื่อพบว่าสถานการณ์ของชาวเบอร์ลิน เมื่อรถถังโซเวียตเข้ามาเหยียบย่ำเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน คือนรกดีๆ นี่เอง ผู้ชายถูกฆ่าตาย ผู้หญิงถูกข่มขืน ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมันที่ถูกส่งให้มาปกครองประเทศ กลับไม่รู้ไม่เห็นการฆ่าฟันทำลายล้างประชาชนของตัวเอง

แต่ท่ามกลางความโหดร้าย ก็มีความกล้าหาญอยู่ด้วย เมื่อฝ่ายโซเวียตตัดการคมนาคมและพลังงานในเขตปกครองของอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสในเมืองเบอร์ลิน ด้วยความหวังจะบีบให้ทั้งสามประเทศละทิ้งเมืองนี้ไปอยู่ในอุ้งมือของคอมมิวนิสต์ เลยเกิดเป็นปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ โดยนักบินชาวอเมริกันขับเครื่องบินรบผ่านเข้าไปในเขตปกครองของโซเวียต เพื่อนำเอาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่ชาวเยอรมัน โดยฝ่ายโซเวียตเองก็ส่งเครื่องบินเข้ามาก่อกวน ซึ่งแม้จะไม่อาจใช้กระสุนปืนหรือหัวรบยิงเข้าใส่กันตรงๆ แต่ก็มีการขับเครื่องกายกรรมกลางอากาศเพื่อก่อกวน เรื่องแบบนี้นี่ไม่ตื่นเต้นพอหรืออย่างไร ฮอลลีวูด!

(สารภาพความโง่ของตัวเองอย่างหนึ่งคือ เข้าใจมาตลอดว่ากำแพงเบอร์ลินแบ่งเมืองเป็นสองส่วน ซึ่งพอดีกับเส้นที่แบ่งเขตประเทศเยอรมันเป็นตะวันตกและตะวันออก จริงๆ แล้วเบอร์ลินตะวันตกเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ซึ่งจมอยู่ในเยอรมันตะวันออก ใครอยากไปเบอร์ลินในสมัยนั้นจริง ถ้าไม่นั่งรถไฟผ่านเขตโซเวียต ก็คือต้องบินเข้าไปเท่านั้น เลยมีคนตั้งฉายามันว่า “The Surreal Cage” เป็นกรงที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นกรงที่มีอิสระยิ่งกว่าภายนอก)

The Berlin Wall เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษขนาดย่นย่อ เล่าเรื่องตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกใหม่ๆ จนไปถึงการแบ่งเมืองเบอร์ลิน การสร้างกำแพง และไปจบที่การถล่มกำแพง (ซึ่งก็เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบยี่สิบปีไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง รู้สึกตัวเองแก่จัง) นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นหนังสือที่อ่านเพลินและอ่านสนุกมากๆ จริงๆ ประวัติศาสตร์ช่วง “สันติภาพ” แบบนี้มีอะไรน่าสนใจกว่าสงครามเป็นไหนๆ คนเราก่อและเฉลิมฉลองสงครามกันไม่พอหรืออย่างไร น่าจะหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะเกี่ยวกับสันติภาพดูบ้าง ดีไหม

No comments: