ไม่รู้เหมือนกันว่าหนึ่งในหนังสือที่แกต้องอ่านมี "สสาร และความทรงจำ" ของอองรี เบิร์กสันรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า
ขอเล่าประสบการณ์ในการอ่านหนังสือเล่มนี้หน่อยเถอะ ผ่านไปได้ยี่สิบหน้าแรก ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ เหนื่อยยากเหลือแสนกว่าจะแกะความหมายแต่ละประโยคออก หัวข้อของหนังสือคือการรับรู้ (perceive) แต่อ่านยังไงก็ไม่เข้าหัว สุดท้ายยอมแพ้ ไม่อ่งไม่อ่านมันแล้ว แต่ตูขอรับรู้หน่อยเถอะ ว่าแล้วก็อ่านพึ่บรวดเดียว ประโยคไหนไม่เข้าใจข้ามๆ ไป ผ่านไปอีกยี่สิบหน้าในเวลาไม่ถึงยี่สิบนาที
ปาฏิหาริย์มีจริง อ่านรู้เรื่องขึ้น(ว่ะ)
ได้บทเรียนทรงคุณค่าว่าบางทีหนังสือปรัชญาต้องอ่านเร็วๆ รับรู้มันอย่างเดียว มานั่งถอดความทีละตัวอักษรไม่ไหว ที่สำคัญคือเผลอๆ ยกแต่ละประโยคมาให้อีตาเบิร์กสันอ่าน สงสัยนักว่าแกจะเข้าใจที่ตัวเองเขียนหรือเปล่า
ตัดประเด็นที่ว่ามันอ่าน(โคตร)ยากออก "สสาร และความทรงจำ" เป็นหนังสือเข้าท่าทีเดียว หลายความคิดแปลกใหม่น่าสนใจ หัวข้อหลักอย่างที่บอกไปแล้วคือ "การรับรู้" เจาะจงกว่านั้นคือสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง "การรับรู้" (หมายถึงการเปิดรับโลกภายนอกเข้ามาข้างในตัวเรา) และ "ความทรงจำ" (คือการที่เราตีความหมายโลกภายนอกนั้น) ทฤษฎีดั้งเดิมคือการสร้างความสัมพันธ์ (association) สมองค้นหาภาพในห้องสมุดความทรงจำ ซึ่งเหมือน หรือคล้ายสิ่งที่รับรู้เข้ามาใหม่ และใช้ข้อมูลนั้นในการตีความ
เบิร์กสันปฏิเสธทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์ โดยบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่ทั้งสองภาพ (ภาพหนึ่งคือภาพใหม่ซึ่งเพิ่งรับรู้เข้ามา และอีกภาพคือภาพเก่าในห้องสมุดความทรงจำ) จะเหมือนกันมากพอให้สมองแยกแยะภาพหลังออกจากภาพอื่นๆ นับร้อยนับล้านในห้องสมุด เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเห็นคือสุนัข ในเมื่อเราไม่เคยเจอสุนัขตัวนี้มาก่อน (ตรงนี้คล้ายๆ ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาของโนม ชอมสกี้)
เบิร์กสันให้ความสำคัญกับ "การเคลื่อนไหว" (motion/movement) เขาอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเซลเดียวเมื่อรับรู้อะไร ก็จะเคลื่อนไหวตอบโต้การรับรู้นั้น เนื่องจากผนังเซลเป็นทั้งอวัยวะที่ใช้รับรู้ และตอบโต้ สำหรับมนุษย์ เมื่อประสาทสัมผัสทั้งห้ารับรู้อะไร จะเอาข้อมูลตรงนั้นไปเก็บใส่สมองก่อน แล้วค่อยเลือกที่จะตอบโต้ตามความเหมาะสม สภาพลังเล (indetermination) ระหว่างการรับรู้ และตอบโต้นั่นเอง คือที่มาของความฉลาด (intelligent) จิตสำนึก (consciousness) และอื่นๆ กระนั้นใช่ว่ามนุษย์เราจะไม่มีระบบตอบโต้อัตโนมัติเสียทีเดียว ไขสันหลังทำหน้าที่ตอนโต้สิ่งเร้าโดยไม่ผ่านสมอง เบิร์กสันบอกว่าการเคลื่อนไหว อันมีที่มาจากไขสันหลังนั้นต่างหากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทรงจำ หมายถึงว่าเราไม่ได้จำ "การรับรู้" (perception) หรือสิ่งที่เห็นภายนอกได้ แต่จดจำอาการตอบสนองของร่างกายตัวเองได้ต่างหาก เมื่อเราเห็นสุนัข ร่างกายตอบโต้กับความเป็นสุนัขนั้นไปแล้ว (เช่นว่ากลัวมันจะกัด เลยเตรียมหนี หรือยิ้มเพราะเราชอบสุนัข) และอาการตอบโต้ช่วยให้เราจดจำสิ่งตรงหน้าได้ว่ามันคือสุนัข (คำว่า "ตอบโต้" ในที่นี้ก็คือ "การเคลื่อนไหว" นั่นเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวจริงๆ ก็ได้) ทฤษฎีนี้นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนภาษาได้ว่าคนเราจะท่องจำศัพท์ง่ายขึ้น ถ้าเราพูด หรืออ่านออกเสียงเวลาได้ยินภาษาใหม่ๆ ไปด้วย (ซึ่งก็จริงของเขา)
สำหรับเบิร์กสัน ระหว่างการรับรู้ และจำได้ ต้องมีขั้นตอนตรงกลาง นั่นคือ memory-image หมายถึงภาพที่รับรู้เข้ามา แต่ถูกความทรงจำแต่งเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างสุนัข ภาพแรกที่เราเห็นคือตัวอะไรเล็กๆ เหม็นๆ มีชีวิตๆ การที่เรารับรู้ว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิต ช่วยให้เราระลึกได้ว่ามันคือสัตว์ ความระลึกได้ตรงนี้ช่วยเสริมรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งถูกมองข้ามไปในตอนแรก เช่นสีน้ำตาล ขนปุกปุย สัญญาณประสาทที่วิ่งกลับไปกลับมาระหว่างการรับรู้ และความทรงจำช่วยให้เราตระหนักถึงสุนัขที่อยู่ตรงหน้า
เบิร์กสันยังพูดถึง attention (สมาธิ) ว่าคือการที่เราตั้งใจ "ลังเล" ไม่ตอบโต้สิ่งเร้าซึ่งเข้ามาในหัวทันควัน อาการลังเลนี้เองช่วยให้เรา "เข้าใจ" และตอบโต้กับสิ่งเร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น นึกถึงตัวเองในฐานะที่เรียนเต้นรำมา บ่อยครั้งอาจารย์ต้องบอกนักเรียนในชั้นว่า "ให้ดูก่อน อย่าเพิ่งเต้นตาม" เพราะทันทีที่เห็นอาจารย์ก้าวเท้า ขยับแขน เรามักเต้นตามโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าใช้ "สมาธิ" หรืออาการลังเลไตร่ตรองชั่วครู่ เราจะเลียนแบบการเต้นนั้นได้อย่างหมดจดขึ้น
ต้องยอมรับว่าหลายความคิดของเบิร์กสันหลุดโลกอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือเมื่อมันเป็นปรัชญาที่อิงจิตวิทยา การแพทย์ในปัจจุบันน่าจะพิสูจน์ได้แล้ว (อาศัยการต่อสายไฟเข้าสมอง ฉีดยา หรือผ่าศพลิงอะไรก็ว่าไป) ว่าทฤษฎีเหล่านี้จริง เท็จแค่ไหน ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่อะไร เพราะในบทสุดท้ายของสสาร และความทรงจำ เบิร์กสันพูดถึงทฤษฎีการเคลื่อนไหวเชิงกายภาพ ซึ่งจากมุมมองของฟิสิกส์ยุคปัจจุบัน ต้องบอกว่า "ผิด" อยู่ไม่น้อย ("ผิด" ในที่นี้คือเอาเป็นว่า "ต่าง" ก็แล้วกัน)
เบิร์กสันแบ่งทฤษฎีการเคลื่อนไหวออกเป็นสี่ข้อ ซึ่งสรุปรวมๆ ได้สองประการคือ 1) การเคลื่อนไหวแบ่งไม่ได้ และ 2) การเคลื่อนไหวคือสภาพพื้นฐาน (state) ของวัตถุ เบิร์กสันใช้ข้อแรกแย้งปฏิภาคพจน์ของเซโน ทันทีที่เราพยายามแบ่งการเคลื่อนไหว แท้จริงคือเรากำลังแบ่งเส้นทางการเคลื่อนไหว (trajectory) ต่างหาก ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกับการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวนั้นแท้จริงประกอบด้วยอวกาศ (space) และเวลา (time) แม้ว่าอวกาศพอตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ แต่เวลานั้นตัดแบ่งไม่ได้
ข้อสองขยายความได้ว่า ถ้าเราจับภาพนิ่งๆ ของวัตถุขณะเคลื่อนไหว แม้ว่าสิ่งที่เราเห็นในภาพนั้นจะหยุดอยู่กับที่ แต่ความจริงแล้วมันมี "การสั่นไหว" (vibration) ซึ่งเป็นสภาพย่อยของการเคลื่อนไหวอยู่ เบิร์กสันอธิบายว่าจิตสำนึกคนเราซึ่งบ่งบอกสภาพปัจจุบัน (presence) นั่นไม่ใช่เส้นบางๆ ที่ขั้นกลางระหว่างอดีต และอนาคต แต่ไอ้เส้นนั้นน่ะมีความหนา มีช่วงเวลา (duration) เนื่องด้วยปัจจุบันนั้นต้องประกอบด้วยความทรงจำ (ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีต) และการตอบโต้ (ซึ่งเป็นตัวแทนของอนาคต) อยู่ ดังนั้นเราจึงไม่อาจตัดเวลาให้เล็กได้เท่าที่ต้องการ ต่อให้แบ่งการเคลื่อนไหววัตถุเล็กสุดเท่าที่เล็กได้ ยังไงมันก็ต้องบรรจุสภาพการเคลื่อนไหวลงในช่วงเวลาเล็กๆ นั้นอยู่ดี
เบิร์กสันคิดทฤษฎีนี้ตอนที่ยังไม่มีภาพยนตร์ ซึ่งในแง่หนึ่งภาพยนตร์คือศาสตร์แห่งการจับภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาต่อกันจนเกิดมายาแห่งการเคลื่อนไหวขึ้น นี่เองทำไมเดอลูสสนใจนำปรัชญาของเบิร์กสันมาใช้กับการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ในหนังสือ cinema อันโด่งดังของแก
จริงๆ ความคิดพื้นฐานของเบิร์กสันก็เข้าทีมิหยอก ถ้าไม่ติดว่าแกขยายความเกินตัวไปหน่อย ไม่ว่าจะเป็นสภาพการตัดแบ่งไม่ได้ของอวกาศ และเวลา ในสสาร และความทรงจำ หน่วยย่อยสุดของอวกาศยังคงเป็นอะตอมอยู่เลย เบิร์กสันบอกว่าคนเราตัดเล็กลงไปกว่านี้ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 ค้นพบอนุภาคมูลฐาน ซึ่งเล็กกว่าอะตอม และยังตัดย่อยลงไปยิ่งกว่านี้ได้อีก เบิร์กสันพูดถึงแรงหรือพลังงานที่เชื่อมต่อระหว่างมวล และประจุไฟฟ้า โดยบอกว่าแรงนั่นเองคือ สภาพการสั่นไหว (vibration) ที่ทำให้วัตถุไม่อาจอยู่นิ่งๆ เดี่ยวๆ ได้ แต่ต้องผสานเป็นหนึ่งเดียวกับวัตถุรอบข้าง โดยฟิสิกส์แผนใหม่แล้ว จะว่าจริงก็จริง จะว่าเท็จก็เท็จ
ที่เบิร์กสันผิดสุดคือการกล่าวว่า "การเคลื่อนไหวสมบูรณ์" นั้นมีอยู่จริง (ทฤษฎีการเคลื่อนไหวข้อสอง) ตีความได้ว่าในจักรวาลมีแกนอ้างอิงสมบูรณ์ ซึ่งใช้วัดค่าสมบูรณ์ของระยะทาง และเวลา ซึ่งขัดแย้งกับประโยคอันโด่งดังของไอน์สไตน์ที่ว่า "อีเธอร์ไม่มีจริง!" (อีเธอร์ก็คือแกนสมบูรณ์นั่นเอง)
อย่างไรก็ตามจุดซึ่งเราสนใจในทฤษฎีการแบ่งไม่ได้ (indivisibility) ของเบิร์กสันคือเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวรรณกรรม ในแง่หนึ่งแล้ว ภาษาและงานเขียนของแกมีคุณสมบัติการแบ่งย่อยไม่ได้นี้อยู่ อย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าจับความคิดแกมาแยกอ่านแต่ละประโยค แต่ละคำ จะอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ศัพย์แสงก็ไม่ได้สูง หรือซับซ้อนอะไร เพราะความคิดก็เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวคือ ถ้าเอามาแตกทีละประโยคจะมี "สภาพ" บางอย่างซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทางเดียวที่จะเสพความคิดได้คือจำเป็นต้องบริโภคเข้าไปคำใหญ่ๆ
นิทเช่คือนักปรัชญาคนแรกที่ปฏิเสธการใช้ย่อหน้าเวลานำเสนอความคิด เพราะแกต้องการให้ผู้อ่านเสพความคิดทีละก้อนโตๆ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อหน้าคือสิ่งที่ช่วยให้ความคิดยากๆ สื่อสารผ่านตัวอักษรได้รู้เรื่องขึ้น แล้วแต่แล้วกันนะครับ ว่าใครอยากเป็นไฟน์แมน ใครอยากเป็นนิทเช่
1 comment:
อ่านจบแล้ว ก็ไปอ่าน Creative Evolution ต่อซะ แล้วมาอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังด้วย :p
แต่เห็นด้วยนะ อ่านพรวดๆแล้วได้ผล
เพิ่งลองมากับ Deleuze
Post a Comment