E. K. Sedgwick's "Epistemology of the Closet"


Epistemology of the Closet เปิดตัวได้อลังการมาก เซดวิกบอกว่าเธอจะใช้ข้อถกเถียงเชิงญาณวิทยา พิสูจน์ว่าความรู้ ความเข้าใจ และปรัชญาทั้งหลายแหล่ที่ตะวันตกผลิตขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น สามารถโยงไปหาแนวคิดซึ่งสังคมมีต่อประเด็นรักร่วมเพศได้ พออ่านบทนำไปเรื่อยๆ เซดวิกยังเพิ่มความอลังการเข้าไปอีกขั้น โดยบอกว่าประเด็นรักร่วมเพศนั้นสามารถสกัดให้เหลือเพียงข้อขัดแย้งตัวเดียวคือ minoritizing/universalizing และแน่นอนว่าวิชาความรู้ทั้งหลายผุดออกมาจากความขัดแย้งตัวนี้เท่านั้น ความอลังการแบบนี้ดูจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนักญาณวิทยา ผู้ที่ศึกษาวิชาของวิชา ศึกษาต้นกำเนิดของความรู้

แต่ถ้าถามว่าเซดวิกประสบความสำเร็จไหม ในโจทย์อลังการที่เธอตั้งขึ้นมานี้ เราว่าไม่แฮะ Epistemology of the Closet เป็นหนังสือดี เต็มได้ด้วยสาระน่าขบคิด แต่เมื่อเอาพวกมันมารวมกันแล้ว เรายังไม่แน่ใจว่าหนังสือทั้งเล่มต้องการพูดถึงอะไรกันแน่ (ซึ่งบางทีก็อาจเป็นเพราะเราเองก็ได้ ที่อ่านไม่แตก) สิ่งที่เราได้จั๋งๆ คือ "ภาคต่อ" ของ Political Inversions ซึ่งพูดถึงวัฒนธรรมเกย์สองแบบ แบบแรกคือเกย์อย่างออสการ์ ไวลด์ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี และแบบหลังคือเกย์อย่าง "นิทเช่" (ซึ่งไม่ได้หมายความว่านิทเช่เป็นเกย์ แต่หมายถึงวัฒนธรรมเกย์ซึ่งงอกเงยมาจากแนวคิด "เหนือชาย" ของแก) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลัทธิฟาสซิส

เซดวิกพยายามมองความแตกต่างตรงนี้ด้วยแนวคิดคู่ตรงข้ามยอดนิยมของเธอ minoritizing/universalizing แบบแรกมองเกย์ว่าเป็น "เพศที่สาม" ชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีสิทธิ มีเสียง และมีเสรี ความคิดนี้มีอิทธิพลมากๆ ในเยอรมันช่วงต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 (เยอรมันเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการจัดตั้งขบวนการ ปลดปล่อยเกย์) และมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา การศึกษาเรื่องดีเอนเอ ส่วนอีกแบบเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นไบเซกชวล และความเป็นหญิง เป็นชาย และเป็นเกย์อยู่ในตัวพวกเราทุกคน ความคิดนี้ถูกสนับสนุนโดยปรัชญาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

ถ้าถามว่า minoritizing/universalizing กับ wilde/nietzsche เกี่ยวข้องกันอย่างไร เราอ่านหนังสือจนจบแล้วก็ยังตอบไม่ได้ เอาเข้าจริง เกินกว่าครึ่งเล่มของ Epistemology of the Closet เต็มไปด้วยความแตกต่างสองขั้ว ซึ่งเซดวิกรื้อสร้างมาจากนิยายหลายๆ เล่ม ตั้งแต่ของเมลวิล จนถึงเฮนรี เจมส์ แต่ถ้าถามว่าจะกลั่นสองขั้วทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ร่มของ minoritizing/universalizing ได้หรือเปล่า อันนี้แหละ ที่เราว่ายากอยู่

ประเด็นที่น่าสนใจ และแตกต่างจาก queer theory อื่นๆ ที่เราเคยอ่านมาคือ เซดวิกให้ความสำคัญกับ "การเปิดเผยตัวเอง" (coming out) และใช้สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของชาวเกย์ ก็น่าขบคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้า "การเปิดเผยตัวเอง" เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป โลกนี้จะแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หรือน้อยเพียงใด (หรือมันจะสามารถเป็นไปได้ไหม)

No comments: