M. Heidegger's "The Question Concerning Technology"
ดีใจมากที่อ่าน The Question Concerning Technology รู้เรื่อง เราหยิบบทความของไฮเดกเกอร์ชิ้นนี้มาอ่านครั้งแรกประมาณธันวาคมปี 2006 ในสมัยนั้นยังแทบไม่เคยแตะต้องหนังสือปรัชญาเล่มไหนมาก่อน แล้วก็แน่นอนคืออ่านไม่รู้เรื่อง แค่เจอ "What the will wills it has already. For the will wills its will. Its will is what it has willed. The will wills itself." เข้าไปก็กระอักแล้ว หลังจากผ่านไปปีกว่า ได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านความรู้ และภาษา มาตอนนี้ ในที่สุดก็ฟันฝ่า The Question Concerning Technology จนจบ แล้วก็ต้องถือว่ารู้เรื่องดีพอใช้เสียด้วยสิ
เอาละ เลิกชมตัวเองแล้วพูดถึงหนังสือดีกว่า
ความยากของการอ่านปรัชญาตะวันตก คือเหตุ และผลมักสลับที่สลับทาง โดยเฉพาะในผลงานของไฮเดกเกอร์ ซึ่งถ้าให้เราสรุปความเชื่อของแกลงในคำคำเดียว เราจะเลือกคำว่า "ชะตากรรม" เหมือนแกพยายามบอกว่าการคิดค้นหรือทำให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา (เหตุ) แท้จริงแล้วเป็นผลพวงมาจากการที่สิ่งๆ นั้นจะต้องเกิดมาอยู่แล้ว (ผล) เพียงแต่มนุษย์มีหน้าที่เตรียมความพร้อม รับการมาเยือนของสิ่งนั้น เช่นในกรณีของเทคโนโลยีคือเครื่องจักรไอน้ำไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา หากว่ามนุษย์พัฒนากลศาสตร์ความร้อนเพื่อให้เครื่องจักรไอน้ำสามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้ต่างหาก
ถ้าอย่างนั้นก่อนเครื่องจักรไอน้ำจะเป็นเครื่องจักรไอน้ำ มันคืออะไร ตรงนี้ลากไปถึงอีกสิ่งซึ่งชวนงุนงงในปรัชญาตะวันตก คือความคิดเรื่อง "แก่น" หรือ "essence" หรือ "wesen" ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนิรันดร แก่นของเครื่องจักรไอน้ำมีมาก่อนเครื่องจักรไอน้ำจะถูกผลิตขึ้น และเมื่อสักวันเครื่องจักรไอน้ำตกยุคไปแล้ว แก่นตรงนี้ก็จะคงอยู่ (เรื่องความเป็นนิรันดรของแก่นนี้ หาอ่านได้จากปรัชญาสปิโนซาที่เพิ่งพูดไปคราวก่อน)
ไม่รู้จะเห็นภาพขึ้นหรือเปล่า ถ้าหยิบยกอภิปรัชญาของอริสโตเติลขึ้นมาอ้าง ปราชญ์กรีกโบราณเชื่อว่ามีโลกสัมผัสอื่นเหนือกว่าโลกที่เราจับต้องได้ เห็น และเป็นอยู่ เรียกว่าอภิสรรพสิ่งก็ได้ โดยเครื่องจักรไอน้ำมีตัวตนอยู่ในอภิสรรพสิ่งตั้งแต่แรก เมื่อกลศาสตร์ความร้อนถูกคิดค้นขึ้น มนุษย์ถึงสามารถเอาเครื่องจักรไอน้ำลงมาจากอภิสรรพสิ่ง ให้ปรากฎอยู่ในโลกสัมผัสได้
The Question Concerning Technology พูดถึงสองสิ่งซึ่งประกอบกันเป็นสังคมยุคใหม่ ซึ่งก็คือพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และปรัชญาแบบ nihilism เทคโนโลยี โดย "แก่น" แล้วคือการเปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นทรัพยากร ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือวิทยาศาสตร์ที่ทำนายปรากฎการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่นว่าถ้าเผาถ่านหินเป็นจำนวนเท่านี้ๆ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ย่อมต้องได้พลังงานเป็นสัดส่วนที่คาดเดาไว้ก่อนได้เสมอ วิทยาศาสตร์ยุคใหม่จึงต่างจากวิทยาศาสตร์แบบกรีก หรือยุคกลาง เพราะเป้าหมายของเราคือการจับธรรมชาติที่ยืนรออยู่เฉยๆ เอามาใช้ได้ทุกขณะตามต้องการ การมองธรรมชาติเป็นทรัพยากรเช่นนี้คือหัวใจของระบบทุนนิยม ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นแง่มุมที่ถูกคนหยิบยกขึ้นมากล่าวโจมตีบ่อยๆ
ส่วนความเชื่อแบบ nihilism ก็ตีความมาจากหลักอภิปรัชญาอีกนั่นแหละ โดยภายในอภิสรรพสิ่งไม่ได้มีเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ หรือวัสดุรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนามธรรมอื่นๆ เช่นความดีงาม กฎเกณฑ์ ระเบียบสังคม คริสตศาสนา (ซึ่งดัดแปลงมาจากอภิปรัชญาอีกที) สอนว่าเจ้าแห่งอภิสรรพสิ่ง หรือสิ่งที่สมบูรณ์สุดก็คือพระเจ้า ความคิดแบบ nihilism คือการที่เราปลดพระเจ้าออกจากแท่นบัลลังก์ และเอาความว่างเปล่ามาแทนที่ พอมาถึงยุคนิทเช่ แกบอกว่าปัจเจคชนจะหาคุณค่าแบบอื่นๆ มาวางไว้แทนที่ความว่างเปล่าตรงนั้น พระเจ้าของปัจเจคก็คือคุณค่าที่แต่ละคนเลือกจะยืดถือ
ไฮเดกเกอร์เรียกแนวคิดของนิทเช่ว่า nihilism แบบไม่สมบูรณ์ ที่ไม่สมบูรณ์เพราะถึงแม้จะถอดพระเจ้าออกจากแท่นบังลังก์ แต่การพูดถึง และมีอยู่ของอภิสรรพสิ่ง ก็ยังเรียกว่าเป็นการยึดแนวทางของอภิปรัชญา ไฮเดกเกอร์พูดต่อด้วยว่าความยุ่งเหยิง สงคราม และการฆ่าฟันกันเกิดจาก nihilism แบบไม่สมบูรณ์นั่นเอง เพราะถ้าปัจเจคนับถือคุณค่าที่แตกต่างกัน ย่อมนำมาซึ่งโลกแห่งความขัดแย้ง ใน The Question Concerning Technology ไฮเดกเกอร์นิยาม nihilism แบบอื่นที่ไม่ต้องอาศัยหลักอภิปรัชญา ซึ่งไอ้ประโยควิวๆ หวิวๆ ที่ยกมาตอนต้น ก็มาจากตรงนี้นี่เอง ไฮเดกเกอร์เชื่อว่าหลัก nihilism แบบสมบูรณ์สอดคล้องกับมนุษย์ยุคใหม่ และสามารถสร้างความสงบสุขในโลกได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
I'm gone to tell my little brother, that he should also go to see this website on regular basis to obtain updated from newest reports.
Stop by my website ... furniture woodworking plans
Thanks , I have just been looking for info approximately this topic for a while
and yours is the best I've discovered so far. However, what about the bottom line? Are you sure about the supply?
Here is my web blog only the best review
Post a Comment