S. Prickett's "Narrative, religion, and science"

สงสัยกันบ้างไหม เวลาอัจฉริยะเขาเฮฮาปาตี้กัน เขาเล่นเกมอะไร จอห์น วิลเลอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เล่าว่า เขาเคยไปงานเลี้ยงกับเพื่อนๆ ตกลงชวนเล่นเกมยี่สิบคำถามกัน โดยให้ผู้เล่นออกไปนอกห้อง แล้วคนที่เหลือช่วยกันคิดคำปริศนา ถึงตาวิลเลอร์เป็นผู้เล่น พอกลับเข้ามา เขาสังเกตว่าเพื่อนยิ้มแปลกๆ ก็รู้ได้ทันทีว่า มีบางอย่างไม่ชอบมาพากล วิลเลอร์เริ่มต้นถามเพื่อนทีละคน “เป็นสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า” “ไม่ใช่” “เป็นชื่อสถานที่หรือเปล่า” “ไม่ใช่” “เป็นปรากฏการณ์ในธรรมชาติใช่หรือไม่” “ใช่” พอถึงคำถามที่สิบเก้า วิลเลอร์ถามว่า “มีสีขาวใช่หรือเปล่า” “ใช่” เขาหันไปหาเพื่อนคนสุดท้าย “เมฆหรือเปล่า” พออีกฝ่ายตอบว่า “ใช่” คนทั้งห้องก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน

เรื่องของเรื่องคือทั้งยี่สิบคนตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่ารอบนี้จะไม่คิดคำ โดยแต่ละคนอยากตอบอะไรก็ตอบไป แต่มีข้อแม้คือ ต้องมี “คำตอบที่ถูก” (ของตัวเอง) อยู่ในใจ ดังนั้นเกมนี้ คนที่เล่นยากจริงๆ ไม่ใช่ตัววิลเลอร์ แต่เป็นเพื่อนทั้ง 20 คนต่างหาก (เพราะต้องแปลงคำตอบของตัวเองไปเรื่อยๆ ตามคำตอบของคนก่อนหน้านั้น)

มันมีบทเรียนแฝงอยู่ในเรื่องนี้ด้วย ถ้าเป็นพวก “หลังสมัยใหม่สุดโต่ง” คงบอกว่าเรื่องเล่าของวิลเลอร์แสดงให้เห็นถึงสภาวะโลกหลังสมัยใหม่ที่ปราศจาก grand narrative ไม่มีความจริงหนึ่งเดียว แต่ละคน “โกหก” เพื่อดัดแปลงความจริงไปเรื่อยๆ คำนิยามของหลังสมัยใหม่แบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเลียวตาร์ด ใน Narrative, Religion, and Science พริกเกตต์พยายามรื้อสร้างคำกล่าวของเลียวตาร์ด โดยบอกว่า คำพูดที่ว่า “โลกนี้ไม่มี grand narrative” นั่นต่างหากที่กลายเป็น grand narrative ของสังคมยุคใหม่ อีกนัยหนึ่ง Cretan Paradox “คำพูดทุกคำที่ออกจากปากข้าพเจ้านั้นเชื่อถือไม่ได้” นั่นเอง

ขอแวบไปภาพยนตร์ Rashomon ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ถูกอ่านผิด เข้าใจผิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คนปัจจุบันมักจะเอาปรัชญาหลังสมัยใหม่มาจับมัน ทั้งที่สมัยคุโรซาวะกำกับหนังเรื่องนี้ หลังสมัยใหม่ยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ (แต่เอาละ งานเขียนของเจมส์ จอยซ์เองก็ได้รับฉลากหลังสมัยใหม่ย้อนหลังเหมือนกัน) เราขอฟันธงทุบโต๊ะว่า Rashomon ไม่ได้ว่าด้วยโลกที่ความจริงถูกบิดเบือนจนไร้ความหมาย เรื่องเล่าของคนตัดฟืนนั่นแหละคือความจริง (มีเงื่อนขำหลายข้อ เช่น การใช้ดนตรีประกอบ เฉพาะเรื่องเล่าของคนตัดฟืนเท่านั้นที่ไม่มีดนตรีประกอบ จึงแลดู realistic กว่าเรื่องอื่น [ไม่นับอีกว่าคุโรซาวะจงใจใช้ดนตรีประกอบที่ฟังดูละคร ไม่สมจริง] รวมไปถึงคนตัดฟืนไม่ได้มีผลได้ผลเสียจากเหตุการณ์ในป่าละเมาะ ดังนั้นจึงเป็น "impartial observer")

("ความเข้าใจผิด" ที่คนมีต่อภาพยนตร์ Rashomon ลามปากไปถึงเรื่องอื่นๆ เลยกลายเป็นว่า อะไรที่เล่าเรื่องด้วย unreliable narrator ต้องไปสนับสนุนทฤษฎีหลังสมัยใหม่เสียหมด ทั้งที่เอาเข้าจริง plot device แบบนี้มักถูกใช้เพื่อจบหักมุม แต่ศิลปินเองก็ชอบให้ผู้ชมอ่านผลงานของตัวเองในลักษณะนี้ เพราะแน่นอนว่า pet degree ที่ลากต่อไปถึงคุโรซาวา ย่อมดูดีกว่าที่ลากไปหาโดนัล คอฟแมน [น้องชายฝาแฝดสมมติของแอนดี คอฟแมนใน Adaptation] ส่วนตัวเราว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นการ "เหยียบเรือสองแคม" [have a cake and eat it] ถ้าแน่จริงและอยากพูดถึงการละลาย grand narrative ทำไมไม่เผยความลับนั้นออกมากลางเรื่องเล่า การที่ศิลปินใช้ประโยชน์จาก fetish ของการจบหักมุม และบอกว่ากำลังละลาย grand narrative ก็เหมือนคนทำหนังโป๊ มาบอกว่าผลงานของข้าพเจ้าส่งเสริมการแสดงออกซึ่งความรักระหว่างเพศนั่นแหละ)

พริกเกตต์บอกว่า ตั้งแต่เปิดศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เกิด “fundamentalist” แนวใหม่ ที่เชื่อในสภาวะไร้ความจริงอย่างสุดโต่ง จนกลายเป็นการยกสภาวะไร้ความจริงขึ้นมาเป็น grand narrative แทน Cretan Paradox ในศตวรรษที่ 21 คือ “จำเป็นไหมที่รัฐบาล ต้องรับรองสิทธิของกลุ่มคนที่พยายามริดลอนสิทธิคนอื่น” อันเป็น paradox แก่นในงานเขียนหลายชิ้นของซีเซก หรือในเวอร์ชั่นไทยๆ เรณู ปัญญาดีเคยเขียนการ์ตูนล้อเลียนราษฎร (อาวุโส) ดัดจริต ถือป้าย “จะเอาประชาธิปไตย ถามกูหรือยัง”

คำตอบของพริกเกตต์คือ grand narrative นั้นมีจริง เพียงแต่มันเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง (irony) และการแบ่งแยกเป็นส่วนๆ (fragment) (ประชาธิปไตยถึงเป็นสุดยอด grand narrative เพราะตัวมันเองมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งความย้อนแย้งและการแบ่งแยก) พริกเกตต์ทะลวง paradox ด้วยการยอมรับว่า grand narrative มีจริง และ เพราะมันมีจริงนั่นแหละ มันถึงไม่มีอยู่จริง ใน Narrative, Religion, and Science พริกเกตต์นำ grand narrative ใหญ่ๆ ทั้งทางฝ่ายศาสนาและวิทยาศาสตร์ เช่น คัมภีร์ไบเบิล Principia หรือ The Origin of Species มาชี้ให้เห็นความย้อนแย้งภายใน (คล้ายๆ กับ “ความจริง” ของคนตัดฟืนที่ย้อนแย้งเสียยิ่งกว่าการที่สามคนผลัดกันมาเล่าเรื่องโกหกเสียอีก)

ท้ายที่สุดแล้วจอห์น วิลเลอร์สามารถทายคำตอบได้ถูกต้องว่า "เมฆ" นี่แสดงให้เห็นว่าเกมที่พวกอัจฉริยะเขาเล่นกันไม่ใช่เกมต้มหมู ความจริงมีอยู่ประสก เจ้าจะมองหามัน หรือหลับหูหลับตาอยู่ในอคติของตัวเองต่อไป

2 comments:

Stranger said...

ขอโทษครับพี่

ไม่ค่อยเข้าใจท่อนนี้

"การที่ศิลปินใช้ประโยชน์จาก fetish ของการจบหักมุม และบอกว่ากำลังละลาย grand narrative ก็เหมือนคนทำหนังโป๊ มาบอกว่าผลงานของข้าพเจ้าส่งเสริมการแสดงออกซึ่งความรักระหว่างเพศนั่นแหละ"

อธิบายอีกหน่อยได้ไหม ขอบคุณครับ :)

laughable-loves said...

งานที่จบหักมุม จริงๆ แล้วพื้นฐานของมันวางอยู่บน "ความจริงหนึ่งเดียว" น่ะครับ การจบหักมุมจะเวิร์คได้ก็ต่อเมื่อคนดูตระหนักว่า "เออ ฉันถูกหลอกมาตลอดนะ ความจริงมันเป็นอย่างนี้นี่เอง" ซึ่งพื้นฐานแล้วมันขัดกับแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่นะครับ

มันไม่ได้ขัดกัน 180 องศา แต่ก็เหมือนความรักกับเซ็กนั่นแหละครับ มันอยู่ใกล้กันมาก แต่ก็ยังเป็นคนละเรื่องเดียวกันอยู่ดี