T. Eagleton's "Literature Theory"
ประเด็นหนึ่งซึ่งอีเกิลตันพูดอ้อมๆ มาตลอดตั้งแต่บทแรก ยันบทสุดท้ายของ Literature Theory: an Introduction คือ นิยาย และวรรณกรรมร่วมสมัยเกิดมาเพื่อรับบทบาทหน้าที่แทนศาสนา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยในศาสนา วิกฤตการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายๆ เรื่องสั่นคลอนศรัทธา ความเชื่อของพวกเขา แต่สังคมใดๆ ไม่อาจอยู่ได้ถ้าปราศจากศาสนา เพราะศาสนาคือเครื่องมืออุดมคติที่ใช้ปกครองคน มีหน้าที่กล่อมเกลาให้ชนชั้นล่างอยู่ภายใต้อำนาจเศรษฐกิจ และการเมืองของชนชั้นปกครอง ถ้าศาสนาไม่อาจคงความศักดิ์สิทธิ์ สังคมย่อมเกิดรอยร้าวฉานได้ง่ายๆ
วรรณกรรมร่วมสมัย และนิยายจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อการนี้ เพราะวรรณกรรมต่างจากงานเขียนเชิงวิเคราะห์ หรือปรัชญา ตรงที่มันเล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกผู้อ่าน มีอิทธิพลคล้ายคลึงกับศาสนา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่หลักสูตรวรรณกรรมในประเทศอังกฤษยุคแรกถูกบรรจุอยู่ในโรงเรียนสำหรับผู้ใช้แรงงาน ชนชั้นระดับล่างของสังคม และก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ช่วงเวลานั้นตรงกับยุคที่มีการเคลื่อนไหว ส่งผู้หญิงไปรับการศึกษาในโรงเรียน ผู้ชายชาวอังกฤษในยุคนั้นพยายามยกเอาวรรณกรรมภาษาตัวเอง เช่นหนังสือของเจน ออสติน ชาร์ล ดิกเกน มาใช้แทนศาสนาในการปกครองชนชั้นล่าง และผู้หญิง (สิ่งที่พวกเขาอ่านจริงๆ กลับเป็นงานเขียนภาษากรีก ลาติน เช่นโอดิสซี หรืออีเลียต)
กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อหลักสูตรวรรณกรรมแพร่หลายมากขึ้นในมหาวิทยาลัย สถานภาพของมันยังถูกมองว่าด้อยว่าวิชาคลาสสิก หรือปรัชญา รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมยุคแรกๆ แจกนักปรัชญา มากกว่านักเขียนด้วยซ้ำ กระทั่งสงครามโลกนั่นเองที่ลดบทบาทวิชาปรัชญาลง เนื่องจากอิทธิพลใหญ่สุดซึ่งปฏิเสธไม่ได้ของปรัชญา (ในยุคนั้น) มาจากประเทศเยอรมัน ความขัดแย้งของสงครามทำให้คนอังกฤษเริ่มหันมาหาวรรณกรรมซึ่งถูกผลิตด้วยปลายปากกาชาวอังกฤษด้วยกันเอง
วรรณกรรมเหมือนศาสนาตรงไหน แนวทางการศึกษางานเขียนสร้างสรรค์ในยุคต้นๆ เรียกว่า New Criticism ซึ่งสนับสนุนให้การอ่านแบบปิด (close reading) ในที่นี้หมายถึงอ่านนิยายโดยไม่ต้องสนใจสภาพแวดล้อมภายนอก ผู้เขียน หรือสังคมในยุคนั้น สิ่งเดียวที่สำคัญคืออักขระตรงหน้า วิธีการอ่านแบบนี้ก็คล้ายๆ กับการอ่านไบเบิ้ลนั่นเอง คือสมมติในใจว่าคนเขียนไม่มีอยู่จริง แต่อยู่ดีๆ หนังสือหล่นมาจากฟากฟ้า แนวคิดแบบ New Criticism วางรากฐานอยู่บนความเชื่อว่าวรรณกรรมจะช่วยพาผู้อ่านกลับสู่ "ดินแดนแห่งพระเจ้า" ในที่นี้คือยุโรปศตวรรษที่ 17 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และยุคแห่งเหตุผล
กระทั่งเมื่อกระแส New Criticism ซาลงไปแล้ว แม้แต่การอ่านแบบ Structuralism ก็ยังโยงไปข้องเกี่ยวกับศาสนาได้ คือเป็นการอ่านเพื่อหา "โครงสร้าง" หรือ "พลังศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งชักใยอยู่เบื้องหลังงานเขียน
ตอนนี้ยังไม่ค่อยอยากพูดถึง Structuralism, Post-structualrism, Psychoanalysis สักเท่าไหร่ แม้ว่าหัวข้อเหล่านี้จะบรรจุอยู่ใน Literature Theory ก็ตาม เอาเป็นว่าไว้อ่าน Derridas, Lacan, หรือ Barthes เมื่อไหร่ ค่อยกลับมาพูดถึงอีกทีแล้วกัน
ก่อนจบอยากลองเอากรอบความคิดตรงนี้มาปรับใช้กับประเทศไทยดู แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ไทย ไม่เหมือนยุโรป ถ้าจะดื้อด้านบอกว่าวรรณกรรมไทยเกิดมาจากความเสื่อมศรัทธาในศาสนาพุทธก็ดูจะเป็นการพูดแบบตีหัวเกินไป กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยที่ชาวตะวันตกเอาวัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสยาม คนไทยเองก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอัตลักษณ์ทางศาสนาเหมือนกัน ยุคหนึ่งมิชชันนารีพยายามชักจูงเจ้าขุนมูลนายว่า เห็นไหม ศาสนาคริสต์ช่วยให้พวกเราเจริญได้ถึงขนาดนี้ ทำไมคนไทย ไม่หันมานับถือคริสตศาสนาบ้างเล่า
หรือกระทั่งที่ระบบการศึกษาย้ายจากในวัด มาเป็นโรงเรียน ใช้ตำราซึ่งเขียนขึ้นมาโดยมีรากฐานแบบวรรณกรรม (หรืออย่างน้อยก็การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งต่างการกาพย์ กลอนแบบเก่าๆ ) ในแง่หนึ่งจะมองว่าวรรณกรรมไทยเองในยุคหลังก็พยายามเข้ามาแทนที่ (หรือพูดอย่างสุภาพหน่อยก็ ส่งเสริม) ศาสนาก็ได้
จริงๆ อยากวิเคราะห์ต่อถึงการเปรียบเทียบระหว่างวรรณกรรมยุคใหม่ และวรรณคดีไทย ในแง่ของการสั่งสอนศีลธรรม เช่นเรารู้สึกว่าวรรณคดีไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสั่งสอนให้คนเป็นคนดี เหมือนกับวรรณกรรม แต่เดี๋ยวจะยาวเกินไป จบแค่นี้แล้วกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
You are right that when one "close reads" something, one is paying attention to the text rather than the context of what is written. I believe, though, that the word "close" here refers to the close attention one pays to the words on the page rather than to an enclosed system of reading as you seem to suggest (it would be have to be "closed reading" in that case).
balenciaga shoes
coach handbags
curry 6
nmd
balenciaga triple s
curry 6
jordan 12
hermes online
supreme clothing
jordan shoes
Post a Comment