G. W. F. Hegel's "The Essential Writings"


หากแม้นจะมีชาวตะวันตกสักคนที่ได้ยินเสียงตบมือข้างเดียว ก็คงเป็นฟรีดริช เฮเกลผู้นี้แหละ

สารภาพว่าใช้เวลาอ่านนานมากกับ The Essential Writings เผลอๆ เกือบสองปีกระมังตั้งแต่เริ่มหยิบมันขึ้นมา ด้วยความหนักแน่นของเนื้อหา ได้แต่อ่านๆ วางๆ กว่าจะจบทั้งเล่มลงได้ก็จนป่านนี้เอง ทั้งที่ว่ากันตรงๆ The Essential Writings นี่ต้องถือว่าอ่านง่ายแล้ว เพราะมันรวบรวมบางช่วงบางตอนมาจากหนังสือดังๆ ของเฮเกล ถ้าต้องมาอ่านอย่าง The Phenomenology of Spirit คงใช้เวลาสาม สี่ปีเป็นอย่างน้อย

เพราะความยากตรงนี้ เลยทำให้ไม่ค่อยมีคนไทยได้อ่านได้ศึกษาผลงานของเฮเกล ทั้งที่แกเป็นผู้ให้กำเนิดวิภาษวิธี (Dialectic) แท้ๆ คนไทยส่วนใหญ่จะรับแนวคิดนี้มาจากมาร์คอีกทอด ซึ่งวิภาษวิธีของมาร์คและของเฮเกลก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ของมาร์คจะเน้นเรื่องการโค่นล้ม ทฤษฎีใหม่ล้มล้างด้วยทฤษฎีเก่า ในขณะที่ของเฮเกลจะเน้นเรื่องการส่งเปลี่ยนของทฤษฎีจากสภาวะหนึ่งไปยังอีกสภาวะหนึ่งมากกว่า

ตัวอย่างซึ่งเรามองว่าสวยงามมากๆ จาก The Phenomenology of Spirit คือเฮเกลเปรียบเทียบความรู้ว่าเป็นเหมือนดอกไม้ ซึ่งเวลาผ่านไป กลีบดอกก็จะร่วงเหี่ยวเฉาและกลายเป็นผลไม้ ต่อมาผลไม้ปริแตกก็จะกลายเป็นเมล็ด และถ้าเมล็ดได้มีโอกาสตกลงผืนดิน ก็จะงอกเงยขึ้นมากลายเป็นต้นกล้า และจากต้นกล้าเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านใบ และสุดท้ายก็กลายเป็นดอกไม้อีกที เฮเกลบอกว่าไม่ว่าจะสภาวะไหน ดอกไม้ ผลไม้ เมล็ด ต้นกล้า กิ่งก้านใบ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดอกไม้ทั้งนั้น

หัวใจของวิภาษวิธีอยู่ที่การรวมของสองสิ่งซึ่งตรงข้ามกันเข้าหากัน เพื่อให้บังเกิดสิ่งใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือเริ่มต้นจากทฤษฎี (thesis) บังเกิดทฤษฎีต้าน (anti-thesis) ซึ่งเมื่อเอาสองตัวมารวมกันก็จะกลายเป็นทฤษฎีสังเคราะห์ (synthesis) แต่แท้ที่จริงทั้งสามสิ่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกัน หรือมีธรรมชาติของสิ่งเดียวกันอยู่ทั้งนั้น ขนาดทฤษฎีต้านที่สมควรจะตรงข้ามกับทฤษฎี หรือทฤษฎีสังเคราะห์ที่ใหม่กว่าทฤษฎี ก็เฉกเช่นเดียวกับเมล็ดหรือผลไม้ ซึ่งแม้จะแตกต่างจากดอกไม้ แต่ก็มีธรรมชาติของดอกไม้บรรจุอยู่ในนั้น

เพราะเชื่อในความต่างที่เหมือนกันนี่เอง ปรัชญาของเฮเกลจึงเต็มไปด้วยพาราดอกซ์ ว่ากันจริงๆ พาราดอกซ์ทางปรัชญาทั้งหมดที่เราเคยอ่านเคยรู้มา ก็ล้วนแล้วแต่ถูก The Essential Writings พูดถึงในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น เช่นพาราดอกซ์ของการเรียนรู้ ที่บอกว่าคนเราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แล้วเราจะรับเอาสิ่งที่เราไม่เคยรู้ มาทำให้รู้ได้อย่างไร (ในที่นี้การ “รู้” แตกต่างจากการท่องจำ เก็บข้อมูล) นักปราชญ์รุ่นเดียวกับเฮเกลเช่นคานท์ถึงได้เชื่อในความรู้ a priori ซึ่งก็แปลไทยไม่ถูกเหมือนกัน (ขนาดฝรั่งยังแปลอังกฤษไม่ถูกเลย) คล้ายกับความรู้อันเกิดจากสามัญสำนึก หรือไม่ต้องอาศัยการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่จนแล้วจนรอด คานท์ก็กลับกลายเป็นเจ้าพ่อทฤษฎีประจักษนิยมที่บอกว่าการศึกษาหาความรู้ต้องเอามาจากประสบการณ์ตรง

เฮเกลไม่ศรัทธาในความรู้อันเกิดจากการประจักษ์ เพราะความรู้คือสิ่งที่เป็นสากล แต่ประสบการณ์ที่เราประจักษ์เป็นแค่ตัวอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เฮเกลจึงให้กำเนิดแนวคิด “อุดมคติ” (ซึ่งมาร์คต่อต้าน จึงดัดแปลงวิภาษวิธีของเฮเกลมาใช้กับวัตถุทางประวัติศาสตร์และกลายเป็น “วิภาษวิธีวัตถุนิยม” แทน) เช่นว่าแมวทุกตัวจะมี “อุดมคติ” ของความเป็นแมวอยู่ร่วมกัน ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากการมองแมวตัวใดตัวหนึ่ง ต้องอาศัยวิภาษวิธีเท่านั้น เราจึงจะเข้าถึงอุดมคติของความเป็นแมว

อ่านจบแล้วก็งง เขียนทวนให้ตัวเองอ่านอีกทีก็ยังงง รู้สึกว่าแนวคิดหลายอย่างของเฮเกลสัมพันธ์หรือคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาดี วันข้างหน้าจะหาโอกาสอ่านหนังสือเต็มๆ ของแกดูแล้วกัน

No comments: