J. Lovell's "The Opium War"

มาลองสวมหมวกนักล่าอาณานิคมชั่วคราวกันดีกว่า

ในแบบเรียนประวัติศาสตร์จีน สงครามฝิ่นปี 1840 คือจุดกำเนิดของประเทศจีนยุคใหม่ อังกฤษบังคับขายฝิ่น ยาเสพติดอันตราย ให้แก่คนจีน และเมื่อรัฐบาลจีนปฏิเสธ นักล่าอาณานิคมใช้กำลังทหารเข้าบีฑา จนผู้รักชาติชาวจีนต้องสละชีวิตมากมาย สงครามฝิ่นกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของชาวจีน ภายใต้นโยบายรัฐชาติของรัฐบาลซุน ยันเซน ไล่มาจนถึงเหมา เจอต๋ง (ในแง่นี้ ก็ไม่ค่อยต่างอะไรจาก grand narrative ของเมืองไทย ว่าด้วยการถูกรังแกโดยชาติตะวันตก)

โลเวลไม่ได้พยายามโต้เถียงประเด็นความชั่วร้ายของประเทศอังกฤษ เพียงแต่เธอเชื่อว่าผลลัพท์ของสงครามอาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ หากรัฐบาลฮ้องเต้ "ฉลาดขึ้น" อีกสักนิด (นี่ไม่ใช่ความเชื่อใหม่ หรือของเธอคนเดียว ช่วงก่อนคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจ ปัญญาชนจีนหลายรายที่ต้องการนำพาประเทศให้เป็นแบบตะวันตก ก็พยายามยึด grand narrative ดังกล่าว และล่าสุด เมื่อประเทศจีนเริ่มทันสมัยมากขึ้น เรื่องเล่านี้ก็เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง)

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ฝิ่นยังไม่ใช่ "ยาเสพติดผิดกฏหมาย" ทั้งในเมืองจีนเอง และในประเทศอังกฤษ (สหรัฐอเมริกากำหนดให้ห้ามขายฝิ่นเป็นครั้งแรกในปี 1914) ก่อนสงครามจะเริ่มต้น ขุนนางจีนยังถกเถียงว่าควรแก้ปัญหาประชาชนติดฝิ่นด้วยวิธีไหนดี ระหว่างกำหนดห้ามขายและเสพฝิ่นภายในประเทศ และห้ามชาวตะวันตกนำฝิ่นมาขาย (ช่วงก่อนสงครามฝิ่น ชาวอังกฤษไม่ได้ขายฝิ่นให้ผู้ซื้อชาวจีนโดยตรง หากต้องการสิทธิในการปล่อยสินค้าที่ท่าเรือเท่านั้น) ก่อนลงความเห็นว่าอย่างแรกเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ทั้งตลาดบนดินและใต้ดิน ยึดโยงอยู่กับสินค้าชนิดนี้เป็นมากเกินไป

มีเรื่องเล่าที่ขำไม่ออกคือ ทหารจีนในกวางตุ้งที่ต้อสู้กับอังกฤษ ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลท้องถิ่น และกว่า 90% ของตลาดกวางตุ้งอยู่ได้ด้วยฝิ่น ดังนั้นเมื่อฝิ่นถูกห้ามซื้อขาย รัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่รู้จะเอาเงินเดือนจากไหนมาจ่ายให้ทหาร!

การทูตของเมืองจีนในสมัยนั้นอิงอยู่กับแนวคิดประเทศราช และระบบบรรณาการ ฮ้องเต้ยังเชื่อว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และประเทศอื่นๆ รวมไปถึงชาติตะวันตก เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยใต้พระบรมเดชานุภาพเท่านั้น ผลคือการประเมินคู่ต่อสู้ผิด ความพ่ายแพ้แต่ละครั้ง ถูกยกยอดให้เป็นผลมาจากของ "คนทรยศ" หรือ "คนขี้ขลาด" ประเทศจีนพลาดโอกาสสำคัญในการเจรจาต่อรองทางการทูต

ปัญหาข้อนี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อประเทศจีนมีขุนนางอยู่สองประเภท คือขุนนาง "กงฉิน" และ "ตงฉิน" "กงฉิน" คือขุนนางที่ยอมรับว่ายังไงก็สู้เรือปืนของอังกฤษไม่ได้แน่ และใช้วิธีตกลงกับประเทศอังกฤษ แต่เบื้องหลังโกหกกับฮ้องเต้ว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุม ส่วนพวก "ตงฉิน"​ เอะอะอะไรก็จะรบเพื่อรักษาเกียรติภูมิ สิ่งเลวร้ายที่สุด ซึ่งขุนนางทั้งสองประเภทนี้ร่วมกันทำ (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน) คือปิดบังไม่ให้ฮ้องเต้มองเห็นปัญหาที่แท้จริง ความย่อยยับจักบังเกิดเมื่อผู้มีอำนาจไม่รู้ว่าตัวเองกำลังสู้อยู่กับอะไรแน่