C. Bongie's "Exotic Memories"


พอเขียนถึงเรื่องผีๆ ใน ซอยเดียวกัน ก็เลยได้ตระหนักว่า โห จริงๆ แล้ว แนวคิดแบบถิ่นแดนไกลนิยมนี่โคตรจะมีประโยชน์เลยสำหรับการวิเคราะห์วรรณกรรมไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะถึงอย่างไรประเทศโลกที่ 3 ก็ยังหนีไม่พ้นแรงต้านทานระหว่างความทันสมัย และวัฒนธรรมท้องถิ่น Exotic Memories เป็นหนังสือวิเคราะห์วรรณกรรมตามลัทธิดังกล่าว ถึงแม้ว่าตัวเองไม่ใช่คนที่สนใจแนวคิดลักษณะนี้ แต่ก็อยากแนะนำว่าใครที่ตั้งใจศึกษาวรรณกรรมไทยจริงๆ ลองหางานเขียนของ Said, Conrad หรือ Kipling และนักอาณานิยม/ถิ่นแดนไกลนิยมคนอื่นๆ มาลองศึกษาดู

ในที่นี้จะยกตัวอย่างสุ่มๆ โดยวิเคราะห์ผลงานของอาจารย์เทพสิริ ทั้งสองเล่ม (บึงหญ้าป่าใหญ่ และ ร่างพระร่วง) บึงหญ้าป่าใหญ่ เขียนขึ้นมาจะครบสามสิบปีแล้ว เป็นตัวอย่าง "คลาสสิค" ของวรรณกรรมแนวถิ่นแดนไกลนิยม "ผม" ซึ่งเป็นมนุษย์สมัยใหม่ (ชนชั้นกลางในสังคมชนบท) มีศักยภาพที่จะทำตัวเองให้ทันสมัย และถีบตัวเองจากสิ่งแวดล้อมของบ้านป่าเมืองเถื่อน น้ำเสียงที่ผมใช้เล่าเหตุการณ์วัยเด็กนั้น เต็มไปด้วยความโหยหา บ่งบอกได้ว่า ความทรงจำนี้เหลือเพียงแค่ความทรงจำจริงๆ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากมาย และ "บึงหญ้าป่าใหญ่" ก็ไม่เหมือนกับสมัยก่อนแล้ว

ขั้วตรงข้ามของ "ผม" คือโทน โทนถูกใส่เข้าไปในนิยาย เพื่อให้ "ผม" ได้เปรียบเทียบตัวเอง และสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา โทนเป็นเด็กที่กลมเกลียวกับธรรมชาติ และเถื่อนมากกว่า "ผม" แต่เราก็จะรับรู้เสมอถึงความ "ด้อยกว่า" ของโทน โดยเฉพาะได้ในด้านสติปัญญา ถ้าให้เปรียบเทียบกัน "ผม" คล้ายๆ กับโรเบิร์ต ดูวอลใน Apocalypse Now และโทนก็คงเป็นมาลอน แบรนโด ฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนของความทันสมัย และอีกฝ่ายคือความเถื่อนที่แม้ว่าจะงดงามขนาดไหน ก็ต้องสูญพันธ์ไป

ที่บอกว่า บึงหญ้าป่าใหญ่ เป็นผลงานคลาสสิค เพราะมัน "ลงกรอบ" ขนบคิดแบบลัทธิอาณานิคม/ถิ่นแดนไกลนิยมแทบทุกประการ ร่างพระร่วง เป็นนิยายที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจกว่า ทฤษฎีถิ่นแดนไกลนิยมสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การมาถึงของชาวตะวันตก และวิทยาศาสตร์ผลักดันให้ศาสนาพุทธต้องปรับตัวเอง แยกเอาประเด็นไสยศาสตร์ออกจากปรัชญา วิวัฒนาการของศาสนาพุทธจึงเป็นลัทธิอาณานิคมย้อนศร กล่าวคือแทนที่ตะวันตก และตะวันออกจะรวมกันเป็นหนึ่ง ศาสนาพุทธกลับแยกออกเป็นสองวิถี และต่างฝ่ายต่างก็สร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยอิงความแตกต่างจากอีกฝ่ายหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไสยศาสตตร์ในพุทธมีอยู่จริง และมีอยู่ในดีกรี (ทางวัฒนธรรม) ที่แรงเสียด้วย แม้นักปรัชญาหลายคนจะบอกว่านั่นเป็นเพียงกระพี้ ไม่ใช่แก่นของศาสนา แต่คำพูดดังกล่าวก็คือการสร้างอััตลักษณ์ของพุทธกระแสปรัชญานั่นเอง

ความน่าสนใจของ ร่างพระร่วง คือ นี่เป็นนิยายที่เล่าเรื่องจากมุมมองของพุทธกระแสไสยศาสตร์ แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะโฆษณาตัวเองว่าเป็น "ประวัติท่านพุทธทาส" แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เห็นจะค่อยมีอะไรเกี่ยวข้องกับท่านพุทธทาสสักเท่าไหร่ อาจจะมองได้ด้วยซ้ำว่า อาจารย์ดอน ตัวเองของนิยายคือ "เงา" ของท่านพุทธทาส ซึ่งเหมือนกับว่าอาจารย์ดอนเอง ก็ไม่ได้มีความชื่นชม หรือสนใจพระอาจารย์สงฆ์ท่านนี้สักเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อถึงตอนจบของเรื่อง เมื่ออาจารย์ดอนเสียชีวิตไปแล้ว และกลายเป็นวิญญาณ ที่พุทธทั้งสองกระแสรวมกันเป็นหนึ่ง แต่นั่นก็หมายถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ และการสิ้นสุดของ "เนื้อเรื่อง" (narrative) ด้วย

No comments: