G. Deleuze's "Spinoza: Practial Philosophy"


สองปีที่แล้ว ก่อนจะเริ่มเขียนบลอคนี้ ได้อ่าน A Dictionary of Maqiao ซึ่งเป็นนิยาย แต่ถูกนำเสนอในรูปแบบพจนานุกรม ไอเดียฟังแล้วเท่ห์มาก แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เท่ห์ขนาดนั้น เพราะผู้เขียนจัดเรียงลำดับคำเสียใหม่ ไม่ได้ตามตัวอักษร เพื่อให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวได้ สุดท้ายก็เลยเหมือนอ่านนิยายธรรมดาเล่มหนึ่ง ที่มีคำศัพท์ขั่นแต่ละบท

หนังสือที่ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาเวลาอ่านจริงๆ ก็ได้แก่ชุดผจญภัยตามใจเลือกซึ่งเคยฮิตสมัยเราเป็นเด็ก แต่ท่าทางจะไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะสมัยนี้ก็ไม่เห็นมีใครเขียนแบบนั้นแล้ว เคยเห็น Chick Read ในรูปแบบเดียวกันวางขายที่ร้านหนังสือ น่าสนใจดี แต่ก็ไม่ได้สร้างกระแสอะไร Hopscotch ของจูลิโอ คอทาซาร์น่าจะเป็นนิยายพลิกซ้ายพลิกขวาที่โด่งดังสุด ไว้ว่างๆ จะอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง

เกริ่นแบบนี้เพราะใน Spinoza: Practial Philosophy ดีลูซใช้รูปแบบพจนานุกรมอธิบายปรัชญาของสปิโนซา โดยแกเล่นเรียงลำดับคำตามตัวอักษรจริงๆ นี่คือหนังสือที่ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาเวลาอ่าน สำหรับบางคำก็ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะจับความออก อันที่จริงแค่อ่านบทความธรรมดาที่ดีลูซเขียนก็ยากจะตายหักอยู่แล้ว นี่ยังต้องมานั่งโยงใยคำศัพท์อีก อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าบางทีดีลูซอาจตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้เป็นพจนานุกรมสำหรับการอ่านสปิโนซาจริงๆ ก็ได้

อย่างไรก็ดี ยอมรับเลยว่าสนุกสนานไม่น้อยกับการอ่าน Spinoza: Practial Philosophy หนังสือปรัชญาที่ดีไม่ใช่แค่นำเสนอความคิดเท่านั้น แต่ผู้เขียนต้องถามตัวเองด้วยว่า เขียนยังไง ความคิดถึงจะไปประจุในหัวผู้อ่านเองได้ การอ่าน Spinoza: Practial Philosophy แม้จะยากแสนยาก แต่ก็รู้สึกดี ที่บางครั้งพออ่านนิยามของคำคำหนึ่งไม่รู้เรื่อง แต่พออ่านคำอื่นมากๆ เข้า กลับมาอ่านคำเดิม เริ่มจับเนื้อความออก

ส่วนปรัชญาสปิโนซาเป็นเช่นไร ไม่พูดถึงแล้วกัน สรุปสั้นๆ คือเป็นส่วนผสมระหว่างพุทธศาสนา และคริสตศาสนา คิดเล่นๆ ว่าถ้าพระพุทธเจ้าท่านเชื่อในพระยะโฮวา ก็คงกล่าวอะไรทำนองนี้ออกมานั่นแหละ

No comments: