L. Althusser's "Lenin and Philosophy and Other Essays"


เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว สาเหตุที่เราอ่าน Structuralism เพราะอยากเข้าใจ Structural Marxism ของ Louise Althusser คราวนี้ก็เลยได้โอกาสพูดถึงอัลทัสเซอร์เสียเลย จริงๆ แล้วต้องอ้างอิงหนังสือสองเล่มคือ "Louise Althusser and the Traditions of French Marxism" โดย William Lewis และ "Lenin and Philosophy and Other Essays" ของ Louis Althusser

พูดถึงเล่มแรกก่อนแล้วกัน เลวิสเล่าประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ (PCI) ในประเทศฝรั่งเศษ ควบคู่กับไปพัฒนาแนวคิดมาร์กซิสด้วย เคยบอกไว้ตั้งแต่ตอนพูดถึงฟูโคท์แล้วว่า ถ้าอยากเข้าใจปรัชญา หรือศาสตร์สาขาใดๆ วิธีที่ดีที่สุดคือศึกษาไปตามประวัติศาสตร์ของแนวคิดนั้นๆ เลวิสเขียนไว้ในคำนำด้วยซ้ำว่าปรัชญามาร์กซิสไม่อาจแบ่งแยกจากประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ กรณีศึกษาฝรั่งเศสเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะไม่เหมือนรัสเซีย หรือประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ฝรั่งเศสไม่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถ้าดูจากประวัติ PCI เราก็จะได้เห็นขาขึ้น ขาลงของมัน ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ PCI มีอำนาจขนาดเป็นผู้ชักใยรัฐบาลฝรั่งเศส (เพราะช่วยรบกับฟาสซิส และนาซีในสงคราม) จนถึงช่วงปี 1956 ที่ชื่อเสียงพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่หนึ่งตกต่ำถึงสุดขีด (ภายหลังที่กรุซชอฟเอาความโหดร้ายของสตาลินมาเปิดเผย)

เลวิสเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีมากๆ อ่านเข้าใจง่าย ได้รู้ความแตกต่างระหว่าง ปรัชญาสังคมนิยม ปรัชญามาร์กซิสซึ่งเป็นต้นแบบของคอมมิวนิสต์ และปรัชญาเลนนิน/สตาลิน ซึ่งถือเป็น "สุดยอด" เพราะมาจากรัสเซีย ประเทศซึ่งถูกมองว่าเป็นยูโธเปียแห่งโลกในขณะนั้น (แต่มายุคนี้ ปรัชญาตัวนี้ถูกจัดว่าเป็นมาร์กซิสฉบับสามานย์ เพราะตัวตนที่แท้จริงของมันคือโฆษณาชวนเชื่อที่เลนนิน และสตาลินใช้เป็นเครื่องมือ สร้างฐานอำนาจ) ไปจนถึงมาร์กซิสดัดแปลงที่นักคิดชาวฝรั่งเศสเสนอแนะ ซึ่งก็แบ่งอีกเป็น humanis marxism (มอนติ-พอยตี้) existentialist marxism (ซาร์ต) และ structuralist marxism (อัลทัสเซอร์)

ไม่ขอยกรายละเอียดแล้วกัน ขอย้ำสั้นๆ อีกทีว่าหนังสือเล่มนี้เจ๋งมาก ชนิดที่ว่ามือใหม่คนไหนอยากเข้าใจปรัชญามาร์กซิส แนะนำเลยว่าต้องเล่มนี้แหละ


มาพูดถึงอัลทัสเซอร์ดีกว่า "Lenin and Philosophy and Other Essays" คือหนังสือรวมบทความของแก ตลอดชีวิตอัลทัสเซอร์ไม่เคยเขียนหนังสือปรัชญาเป็นเล่มๆ ออกมาอย่างจริงจัง มีแค่รวมบทความสองเล่ม คือเล่มนี้ และก็ "For Marx" ในเล่มนี้สองบทความที่ดังที่สุดคือ Ideology and Ideological State Apparatuses และก็บทความชื่อหนังสือนั่นแหละ Lenin and Philosophy

ใน Ideology อัลทัสเซอร์อธิบายว่า State หรือรัฐนั้นเป็นเพียงโครงสร้างการควบคุมอย่างหนึ่ง อัลทัสเซอร์เป็นนักโครงสร้างนิยม ดังนั้นแกไม่เชื่อว่าตัวตนของสถาบันย่อยในสังคมมีจริง แต่สังคมประกอบขึ้นจากโครงสร้าง อย่างรัฐก็คือโครงสร้างการควบคุม ทำยังไงถึงจะให้ประชาชนตอบสนองกระบวนการผลิตของรัฐ ซึ่งเครื่องมือในที่นี้แบ่งเป็นสองประเภท RSA หรือ Repressive State Apparatuses คือพวกกฏหมาย ระบบเศรษฐกิจที่บังคับให้คนเราทำงาน และ ISA หรือ Ideological State Apparatuses ในที่นี้คือการศึกษา ซึ่งไม่ใช่สอนประชาชนว่าต้องทำงานอย่างไร แต่รวมไปถึงการเป็นลูกจ้าง หรือนายจ้างที่ดี ความขยัน ความตั้งใจทำงาน เชื่อฟังเจ้านาย คำขวัญประเภท "งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข" สรุปก็คือการปลูกฝังค่านิยมนั่นแหละ

RSA สำหรับอัลทัสเซอร์แล้วลงลึกไปยิ่งกว่าค่านิยมเสียอีก กระทั่งภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ถูกแฝงไว้ด้วย RSA เช่นการที่มีคนเรียกชื่อเรา ในแง่หนึ่งก็เหมือนเราได้ตกอยู่ใต้อำนาจการควบคุมของรัฐแล้ว ความคิดตรงนี้คล้ายๆ กับ Lacan เจ้าของปรัชญา structural psychoanalysis จริงๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็มีพูดถึง Freud กับ Lacan อยู่บทหนึ่งสั้นๆ

Lenin and Philosophy แสดงให้เห็นอีกหนึ่งความคิดประจำตัวอัลทัสเซอร์ นั่นคือแกเชื่อว่าตัวตนของมนุษย์อยู่ที่การกระทำ หมายถึงว่าเรามักจะลงมือทำนู่นทำนี่ ก่อนที่จะมานั่งวิเคราะห์เป้าหมาย สาเหตุ หรือความคิดซึ่งประกอบกิจกรรมนั้นๆ ของเรา แปลความอีกอย่างได้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นมาก่อนปรัชญาเสมอ สำหรับอัลทัสเซอร์ วิทยาศาสตร์ก็คือการเอาปรัชญามาปรับใช้กับวัตถุที่จับต้องได้ แต่ว่าระบบความคิดของมนุษย์ไม่ได้เริ่มจากปรัชญา แต่เริ่มมาจากวิทยาศาสตร์ (หรือการประยุกต์ต่างหาก) ยกตัวอย่างเช่นเราเรียนรู้ที่จะขับรถ กฎจราจร ก่อนจะมานั่งเข้าใจปรัชญาของการขับรถ เหตุใดกฎจราจรถึงถูกเขียนไว้เช่นว่า

ด้วยเหตุนี้อัลทัสเซอร์พยายามอ่านปรัชญาซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลัง Capital อภิผลงานเศรษฐศาสตร์ของมาร์ก (เศรษฐศาสตร์ก็ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งเช่นกัน) รวมถึงตีความแนวคิดของ Lacan ว่าคือการที่ Lacan อ่านปรัชญาซึ่งซ่อนอยู่ในการปฏิบัติ หรือกระบวนการ psychoanalysis ของ Freud (ลาคานกับอัลทัสเซอร์เป็นเพื่อนรัก เพื่อนแค้นกัน)

บทความของอัลทัสเซอร์ไม่ได้อ่านยากอย่างที่คิด ถ้าใครอยากศึกษาปรัชญามาร์กซิส และคิดว่าตัวเองกระดูกแข็งแล้วในระดับหนึ่ง นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำ

No comments: