C. Mouffe's "The return of the political"
อะไรคือนิยามของ "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" คำเหล่านี้ปรากฏในสังคมไทยมาจะครบสิบปีแล้ว ควรถึงเวลาที่เรารู้ความหมายของมันเสียที ถ้าเช่นนั้นก็สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาเลย บอกก่อนว่า "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งจากที่ได้อ่านและรู้มา ความหมายในทางการเมืองน่าจะครอบคลุมสุด
"สมัยใหม่" เริ่มต้นพร้อมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน อเมริกาแยกตัวเป็นเอกเทศจากอังกฤษ กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน (ไม่นับกรีก โรมันในอดีตกาล) จะมองแบบเหมารวมก็ได้ว่า "สมัยใหม่" คือยุคกำเนิดของประชาธิปไตย ซึ่งมีใจความสำคัญคือ 1) การแยกตัวอย่างเด็ดขาดระหว่างอาณาจักร และศาสนาจักร (จะมองการโค่นล้มกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของข้อนี้ก็ได้ เพราะฐานอำนาจราชวงศ์มาจากศาสนาจักร) 2) การแบ่งพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ มนุษย์สมัยใหม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขากระทำต่อหน้า และลับหลังผู้อื่นส่งผลกระทบ และมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงสรุปว่า "สมัยใหม่" คือยุคของช่องว่างแห่งอำนาจที่นักคิด นักปรัชญาพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็ม (ความหมายในทางสถาปัตยกรรม วรรณคดี และศิลปะก็ไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่นัก)
ถ้ายอมรับความหมายตรงนี้ของ "สมัยใหม่" เสีย "หลังสมัยใหม่" ก็ง่ายนิดเดียว นั่นคือภายหลังการค้นหาอันสูญเปล่า ปราชญ์พบว่าช่องว่างดังกล่าวไม่อาจเอาสิ่งใดเข้ามาทดแทนหากต้องยอมรับสภาพพหุนิยม (pluralism) คือความซับซ้อน หลากหลายในสังคม
ข้อขัดแย้งทางการเมืองในโลกตะวันตกคือระหว่างระบบการปกครองซึ่งให้ความสำคัญกับปัจเจก สิทธิส่วนบุคคล และแบบให้น้ำหนักกับสัมมาร่วม (common good) หรือเป้าหมายที่ ในทางทฤษฎี ทั้งสังคมตกลงกันว่าเราจะมุ่งไปทางนั้น นักคิดประเภทแรกเช่นราวล์ส เจ้าของวาทะอมตะ "สิทธิเหนือสัมมา" (the right over the good) เน้นความสำคัญของกฎหมาย เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่เพียงจำกัดพื้นที่สาธารณะ และกำหนดโครงสร้างของสังคม นักคิดประเภทหลังเช่นชมิท ปฏิเสธกฎหมาย และสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดทั้งข้อห้าม และแนวทางการดำเนินชีวิต มูฟฟ์จับเอาข้อขัดแย้งตรงนี้มาเป็นประเด็นหลักใน The return of the political
มูฟฟ์ไม่ได้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แนวคิดแบบแรกมีปัญหาเพราะท้ายสุดสิทธิของปัจเจกย่อมมีรากฐานมาจากสัมมาร่วม แนวคิดแบบหลังใช้ไม่ได้ หรือ ไม่ยืนพื้นอยู่บนความเป็นจริงเพราะได้ปฏิเสธสภาพ "หลังสมัยใหม่" และ "พหุนิยม" มนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่อาจย้อนกลับไปหาศูนย์อำนาจเช่นกษัตริย์ หรือพระเจ้าได้อีก รวมถึงไม่อาจเอาโลกส่วนตัวมาปนเปกับโลกสาธารณะ (จากนิยามตรงนี้จะมอง คำพิพากษา ว่าเป็นนิยายที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของความไม่ "สมัยใหม่" ในสังคมชนบทก็ได้ น่าขบคิดเหมือนกันที่มนุษย์ "สมัยใหม่" คนเดียวในนิยายเล่มนี้คือ "ผู้ร้าย" เช่นครูใหญ่ที่สามารถแยกแยะอัตลักษณ์ภายนอก และภายในได้อย่างดี)
สรุปลงท้ายซึ่งอยากให้เก็บไปคิดกันคือ ก่อนจะเอ่ยอ้างคำว่า "ธรรมธิปไตย" (ระบบการปกครองที่ผสานระหว่างธรรม และประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน) ลองหาหนังสือปรัชญาการเมืองจริงๆ มาอ่านประดับความรู้กันหน่อยดีไหม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment