R. Sorensen's "Philosophy and the Labyrinths of the Mind"


พีธากอรัส นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะผู้ค้นพบกฎของสามเหลี่ยมมุมฉาก แกยังเป็นอาจารย์โต้วาที ใครที่อยากมีฝีปากคมกล้า ก็มาเรียนวิชาจากแก ลูกศิษย์ของพีธากอรัสคนหนึ่งอยากเป็นทนาย เขาทำสัญญากับอาจารย์ว่า เรียนจบเมื่อไหร่ ทันทีที่ว่าความชนะคดีแรก จะเอาเงินทั้งหมดที่ได้ให้พีธากอรัส ปรากฏว่าพอเรียนจบ ลูกศิษย์คนนั้นเกิดเปลี่ยนใจเอาดื้อๆ ไม่เป็นแล้วทนง ทนาย พีธากอรัสก็เลยไม่เคยได้เงินจากลูกศิษย์ นักปราชญ์ชื่อดังจึงตัดสินใจฟ้องศาล เขาบอกว่า ถ้าตัวเขาชนะคดี ลูกศิษย์ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งศาล แต่ถ้าลูกศิษย์ชนะคดี ก็ต้องจ่ายเงินให้เขาอยู่ดี เพราะได้ชนะคดีตามสัญญาที่ว่าไว้ ปรากฎว่าพีธากอรัสสอนลูกศิษย์ดีเกินไป เขาตอบอาจารย์ไปว่า ถ้าเขาชนะคดี เขาก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าเขาแพ้ ตามสัญญาที่ว่า เขาก็ไม่ต้องจ่ายอยู่ดี

นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์" หรือ paradox ที่ซอเรนเซนยกมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซอเรนเซนมองปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่เพลโต อริสโตเติล ยันฮูม คาน เฮเกล จนถึงปรัชญาคณิตศาสตร์ของรัซเซล และเกมภาษาของวิกเกนสไตน์ ว่าเป็นผลพลอยได้ของการศึกษาปริทรรศน์

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ทำให้เราได้มีโอกาสกลับมาทบทวนปริทรรศน์ของเซโนอีกรอบ (อาร์คิลิสวิ่งแข่งกับเต่า) ตอนที่อ่าน Memory and Matter ของเบิร์กสันก็เคยฟัดกับมันไปแล้วรอบหนึ่ง พอได้กลับมาอ่านทวนหนนี้ รู้สึกถ่องแท้มากขึ้น เราเข้าใจปัญหาของเซโน รวมถึงวิธีแก้ของอริสโตเติลโดยอ้าง "อนันต์ศักยภาพ" และ "อนันต์ที่แท้จริง" ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือตัวอย่างของ "ปริทรรศน์การเรียนรู้" หรือเปล่า การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็คือการที่เรารับเอา "ความจริง" เข้ามาไว้ในสำนึก แต่ถ้า "ความจริง" นั้นมันเป็นของใหม่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นความจริง แต่ถ้าเรารู้ว่า "ความจริง" เป็นความจริง ก็แสดงว่ามันไม่ใช่ของใหม่อีกแล้ว ดังนั้นมนุษย์เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย ถึงจะฟังดูเหมือนเกมภาษา แต่ถ้าตรองดีๆ จะพบว่ามนุษย์เราเรียนรู้อะไรได้ดีขึ้น ถ้าเราอ่านทวนมันเป็นรอบที่สอง หรือมีคนพูดสิ่งที่เราเคยได้ยินมา ให้ฟังอีกรอบ ขณะที่ความรู้ซึ่งใหม่เอี่ยมถอดด้ามจริงๆ เราจะไม่สามารถรับเข้ามาได้อย่างง่ายดายนัก

เราคิดว่าปริทรรศน์ส่วนใหญ่อิงอยู่กับจิตวิทยาของมนุษย์ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็พวกภาพลวงตา เช่นในรูปข้างบน พื้นที่สีเขียวคือผ้าห่ม หรือท้องนา ปริทรรศน์นักโทษในทฤษฎีเกม อันเป็นหนึ่งในปริทรรศน์ที่มีชื่อเสียงสุด แต่ซอเรนเซนไม่ยักกล่าวถืง ก็คือตัวอย่างของกลไกทางจิตวิทยาที่ว่า แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธปริทรรศน์ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ได้ เช่น "ประโยคนี้เป็นเท็จ"

Philosophy and the Labyrinths of the Mind ยังช่วยให้เราได้ใกล้ชิดกับเบอทราน รัสเซลเข้าไปอีกนิด รัสเซลเป็นนักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้ได้รางวัลโนเบล ผลงานเด่นของเขาคือเรขาคณิตปริทรรศน์ รัสเซลเป็นขวัญใจวัยเด็กของสตีเฟน ฮอว์คกิง และเป็นนักปรัชญาคนแรกๆ ที่เรารู้จักชื่อ แต่แทบไม่เคยได้อ่านผลงานของหมอ หรือได้เห็นใครเอ่ยอ้างถึงมันเลย ลูกศิษย์ของรัสเซล วิกเกนสไตน์ดูจะมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากกว่าเสียอีก

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่น่าสนใจ และพลาดไม่ได้สำหรับใครก็ตามที่สนใจปรัชญาตะวันตก

1 comment:

Anonymous said...

เอามาให้อ่านด่วน!