J. Rawls's "A Theory of Justice" (2)
จะสิ้นปี 52 แล้ว ถึงแก่การอันควรเสียทีที่จะอ่านและพูดถึงส่วนที่เหลือของ A Theory of Justice ให้มันจบๆ ไป ทวนกันนิดหนึ่ง อภิตำรากฏหมายเล่มนี้ของจอห์น ราลว์ส ประกอบไปด้วยสามส่วน ส่วนแรกคือภาคทฤษฎีซึ่งพูดถึงไปแล้วในบลอคนี้ ส่วนที่สองคือภาคสถาบันซึ่งเก็บเอาไปพูดถึงในอีกเวปหนึ่งแล้ว และส่วนสุดท้ายคือภาคเป้าประสงค์ซึ่งจะพูดถึงในวันนี้
น่าเสียดายว่าภาคเป้าประสงค์เป็นภาคที่น่าอ่านน้อยสุดของ A Theory of Justice และเป็นส่วนที่เราให้ความสนใจน้อยสุดเสียด้วย ความเจ๋งของราลว์สคือการที่แกสามารถนิยามความยุติธรรมขึ้นมาได้ โดยให้มันหลุดพ้นจากกรอบศีลธรรมหรือความดีงาม แต่ในภาคเป้าประสงค์นี้เอง ราลว์สก็เหมือนสูงสุดคืนสู่สามัญ โดยแกย้อนกลับมาพูดว่าจริงๆ ถ้าคนในสังคมเป็นคนดี ก็คงดีนะ และสังคมก็คงจะมีแต่ความยุติธรรม ซึ่งก็ค่อนข้างตีหัวเข้าบ้าน
ความยุติธรรมตามแบบฉบับของราลว์สคือ ข้อตกลงตั้งต้นอย่างสมเหตุสมผลที่สมาชิกสรุปร่วมกัน โดยสมมติว่าไม่มีใครรู้เอาเข้าจริง ๆ แต่ละคนจะมีทุนและปัจจัยที่แตกต่างกันสักเพียงใด ความเหนือชั้นของทฤษฎีนี้คือมันใช้อธิบายความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ นายเอผู้เป็นชาวนาไม่มีสิทธิบ่นเรื่องความยุติธรรมกับนายบีผู้เป็นเศรษฐี เพราะตอนที่พวกเขาร่างกฎระเบียบร่วมกันนั้น ทั้งนายเอและนายบีไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็นชาวนา ใครจะได้เป็นเศรษฐี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายึดหลักความดีงาม เราอาจบอกได้ว่านายเอซึ่งมีความพอใจในชีวิตตนเองน้อยกว่านาย บี (หรือรู้สึก “ดี” กับชีวิตตนเองน้อยกว่านายบี) ย่อมมีสิทธิไปเรียกร้องหาความยุติธรรม ซึ่งก็จะกลายเป็นการพายเรือในอ่าง เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะเป็นชาวนา ใครจะเป็นเศรษฐี ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบและอีกฝ่ายได้เปรียบ
ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตั้งต้นตั้งแต่แรกแนวคิดเรื่องความดีงามมันก็แทรกอยู่ในทฤษฎีของความยุติธรรมแล้ว กล่าวคือสมาชิกจะกำหนดระเบียบปฏิบัติอย่างสมเหตุสมผลร่วมกันได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจว่าอะไรคือความดีงาม ราลว์สเรียกสิ่งนี้ว่า “ทฤษฎีแบบบาง” นั่นก็คือการนิยามความดีงามเพื่อเอามาใช้เป็นรากฐานให้กับทฤษฎีของความยุติธรรม ส่วน “ทฤษฎีแบบเต็ม” นั้นคือการพิสูจน์ว่าสังคมที่อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรมนั้นคือสังคมที่ดี ที่สำคัญความดียังเป็นตัวประกันเสถียรภาพของสังคมอีกแล้ว
สรุปคือ มาเป็นคนดีกันเหอะ เดี๋ยวสังคมก็ยุติธรรมเองแหละ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment