A. Rand's "Return of the Primitive"


ตอนที่เขียนถึง Deep Water ได้กล่าวไปแล้วว่าเราไม่ชอบคนอย่างเมดตาเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกว่าหล่อนจำเป็นกับสังคม เป็นพลังแห่งความสุดโต่งที่จะคอยยั้งๆ สังคม ไม่ให้ไหลไปในทางเดียว ในแง่นี้แล้วแรนด์ก็คงเหมือนกัน แต่เป็นความสุดโต่งในอีกทาง ใจจริงเราชอบแรนด์มากกว่า เธอเป็นนักปรัชญาที่ออกมาปกป้องลัทธิทุนนิยมผู้เขียน Fountainhead เจ้าของปรัชญา Objectivism ซึ่งบอกว่า โลกเรามีอุดมคติซึ่งจรรโลกสังคมได้อยู่จริง โดยอุดมคติดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากเหตุและผล แต่ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ยึดติดกับอุดมคติที่ผิด (คือไม่มีเหตุไม่มีผล) ก็ปฏิเสธอุดมคติต่างๆ โดยสิ้นเชิง

เสียดายว่า Return of the Primitive ไม่ใช่หนังสือเล่มสำคัญของเธอ มันแค่รวบรวมบทความที่แรนด์เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ เอามาจัดอยู่ภายใต้หัวข้อต่างๆ บทความสำคัญ ซึ่งสรุปรวบยอดแนวคิดทั้งหมดคือ The Age of Envy โดยเธอพูดถึงสภาพสังคมยุคใหม่ที่ผู้คนรังเกียจคนที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย สวยงาม และชาญฉลาด ปัญหาของความอิจฉาไม่ใช่เพียงว่า มันไปขัดขวางปัจเจกบางคน ไม่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าเท่านั้น แต่มันยังเป็นการทำลายอุดมคติ และปรัชญาแห่งเหตุและผล เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมอิจฉาคนร่ำรวย เราก็เลยพลอยรังเกียจความร่ำรวยไปด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความร่ำรวยเป็นอุดมคติที่สร้างอยู่บนหลักเหตุและผล

สุดโต่งไปไหม ขนาดเรายังว่าสุดโต่งไปเลย แรนด์เขียนบทความเหล่านี้ ช่วงปี 1960 ซึ่งเป็นยุคฮิปปี้ในอเมริกา หนุ่มสาวก่อกบฏ สร้างค่านิยมใหม่ๆ และปฏิเสธความเชื่อของผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันสงครามเย็นกับโซเวียตยังไม่จบสิ้น นักวิชาการอเมริกันหลายคนก็ยังพูดถึงข้อดีข้อเสียของระบบคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยม ในสภาพดังกล่าว ก็น่าจะพอเข้าใจความสุดโต่งของแรนด์ได้ Objectivism เหมือนเกราะกันภัย จากความไร้เหตุผลที่คอยทะลวงทะลุสังคมอเมริกันอยู่ในขณะนั้น

หากให้แรนด์ร่างปรัชญา Objectivism ขึ้นมาใหม่ในตอนนี้ เธอจะมองมันต่างไปจากเดิมไหม เราเชื่อว่าต่างนะ ปัจจุบันทุนนิยมคือสัจธรรมทางสังคม เป็นสัจธรรมที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ และจุดด่างพร้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหนีมันพ้น เกราะกันภัยของแรนด์อาจกลายมาเป็นน้ำหนักหน่วงอันเทอะทะ สร้างความเกะกะ ทำให้เราไม่อาจอุดช่องโหว่เหล่านั้นได้

คนอย่างเมดตาเราคงไม่เสียเวลาไปถกเถียงด้วยหรอก ต้องเป็นคนที่่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกันกับเราอย่างแรนด์เท่านั้น ถึงจะมองออกว่าความแตกต่างระหว่างเรา และเธอคือเรื่องไหนกันแน่ เราไม่เชื่อใน Objectivism บัลลังก์แห่งอุดมคติอันสวยหรู ต่อให้มันสร้างอยู่บนปราสาทของเหตุและผลก็ตาม เราเชื่อว่าอนาธิปไตยในปรัชญานำไปสู่สังคมที่สงบสุข แต่ปรัชญาซึ่งชี้ถูกผิดอย่างชัดแจ้งต่างหากนำไปสู่สังคมอนาธิปไตย

ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ขาดคนอย่างเมดตา และโดยเฉพาะแรนด์ไปไม่ได้ มีคำถามหนึ่งซึ่งอยู่ใน The Age of Envy ที่เราชอบมากๆ ถ้าให้เลือกระหว่างสองระบบ ระบบแรกจ่ายเงินเดือนให้ทุกคนน้อยบ้าง มากบ้างต่างกันไป ขณะที่ระบบหลังจ่ายให้อย่างเท่าเทียม แต่เท่ากับเงินเดือนที่น้อยที่สุดของคนในระบบแรก เราจะเลือกอย่างไหน คำถามนี้บ่งบอกอะไรในสังคม (หรือตัวบุคคล) ที่เลือกอย่างแรก และเลือกอย่างหลัง

No comments: