A. Camus's "The Myth of Sisyphus"


ขณะที่หลายคนรับรู้วีรกรรมของโพรเมเทียส ผู้ขโมยไฟจากดวงอาทิตย์มามอบให้แก่มนุษย์ ซิซซิฟัสคือวีรบุรุษกรีกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะบทลงโทษ มากกว่าสิ่งที่เขากระทำ บางตำนานบอกว่าซิซซิฟัสต่อสู้กับความตาย และล่ามเธอไว้ด้วยโซ่ ก่อนถูกสยบใต้คมดาบเทพสงครามมาร์ส บางตำนานบอกว่าซิซซิฟัสขอเวลามัจจุราช ขึ้นไปท่องเที่ยวพื้นพิภพอาทิตย์หนึ่ง แต่กลับคำสัญญาหลบหนีการตามล่าของทวยเทพ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรมาก็ตาม บทลงโทษของเขาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซิซซิฟัสถูกสั่งให้แบกหินขึ้นยอดผา ทันทีที่ไปถึงยอด ก้อนหินกลิ้งกลับลงพื้นราบ เขาต้องไต่ขึ้น ไต่ลง แบกก้อนหินเช่นนี้อยู่ชั่วนิรันดร

เรื่องราวของซิซซิฟัสดลใจอัลแบร์ กามูส์ นักเขียนรางวัลโนเบล ผู้สนใจช่วงเวลาที่วีรบุรุษกรีกมองหินกลิ้งลงเขา ความพยายาม ยากลำบากทั้งหลายสูญสิ้น เวลานั้นซิซซิฟัสจะรู้สึกอะไรอื่นได้ นอกจากความไร้สาระของชีวิต (หลังความตาย) ความไร้สาระนี้เองที่เป็นแก่นบทความขนาดยาว "ตำนานแห่งซิซซิฟัส" ว่าด้วยการฆ่าตัวตาย และความไร้สาระของชีวิต

กามูส์บอกว่าสาเหตุที่คนเราฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะความยากลำบากของชีวิต แต่เกิดจากมนุษย์ตระหนักได้ในความเหลวไหล ไร้แก่นสารต่างหาก อะไรคือความไร้สาระที่ว่า นั่นคือช่องว่างระหว่างโลกภายนอก และความคาดหวังภายในถึงสิ่งที่เราคิดว่าโลกนี้ควรจะเป็น เพราะมนุษย์รับมือกับความเหลวไหลไม่ได้ ถึงต้องจบชีวิตตัวเอง สิ่งที่กามูส์ว่าไม่ผิดเพี้ยนจากประสบการณ์ตรงของเราเท่าไหร่นัก จำได้ว่าชีวิตผ่านความข่มขื่นมาเยอะ แต่ถ้าถามว่าช่วงไหนซึ่งเราคิดถึงการฆ่าตัวตายบ่อยสุด นั่นไม่ใช่เกิดจากความยากลำบาก แต่เกิดจากความรู้สึกว่าโลกนี้ช่างไร้แก่นสาร ให้พูดเป็นภาษาพุทธก็จะอธิบายว่ารู้สึกเหมือน "กฏแห่งกรรมไม่มีจริง"

กามูส์ไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดสาเหตุของความเหลวไหลนี้ เขาโมมาว่า "คนฉลาด" ทุกคนต้องเคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อน (กามูส์ใช้คำว่า "intelligent people" ซึ่งจริงๆ ก็คงไม่ต้องอัจฉริยะอะไรนักหรอก แต่ถ้าลึกซึ้งนิดหนึ่ง ก็น่าจะเคยรู้สึกเช่นนี้ได้) ซึ่งถ้าคิดว่าบทความชิ้นนี้เขียนช่วงปี 1940 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเริ่มต้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่กามูส์จะสรุปเช่นนี้ ถ้าความไร้สาระจะมีที่มาที่ไป ก็คงเพราะชีวิตมนุษย์แสนสั้น ไม่ว่าเราจะตะเกียกตะกายแค่ไหน สุดท้ายทุกอย่างคือความว่างเปล่า เฉกเช่นเดียวกับการกลิ้งหินของซิซซิฟัส อันนี้ใส่เป็นภาษาพุทธไม่ยากว่า "อนัตตา"

กามูส์อธิบายว่าศาสนาคริสต์เกิดมาจากการพยายามรับมือกับความเหลวไหลนี้ เมื่อมนุษย์ไม่อาจค้นหาความหมายแห่งชีวิตได้ ก็ไปโบ้ยความหมายนั้นให้เป็นเรื่องของพระเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามนุษย์ทนความไร้สาระของชีวิตได้ หลังความตายจะมีสวรรค์นิรันดรคอยอยู่ สังเกตว่าศาสนาคริสต์ชอบให้สัญญาเรื่อง "ความเป็นอมตะ" ซึ่งตรงข้ามกับ "อนัตตา" อันเป็นที่มาของความไร้แก่นสาร

ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะถ้าดึงไปเทียบกับศาสนาพุทธ จะได้ว่าคำสอนพุทธมีสองแนวทางคือ "อนัตตา" และ "กฏแห่งกรรม" "อนัตตา" พูดถึงความเสื่อมสลาย ไม่จีรัง แต่ "กฏแห่งกรรม" เหมือนๆ จะบอกว่ามี "ความเป็นอมตะ" ซ่อนอยู่ตรงไหนสักแห่ง

แต่ถ้าคุณคิดว่า "ตำนานแห่งซิซซิฟัส" คือหนังสือปรัชญาจิตตกชักชวนให้ผู้อ่านมาเฮโลจบชีวิต ก็ผิดเสียแล้ว กามูส์สรุปอย่างดื้อๆ แต่แสนจะน่ารักว่า ถ้าคนเราไม่อาจมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้ ("อย่างสมบูรณ์" ในที่นี้คือ "อย่างมีเหตุมีผล" หรือไม่ "ไร้แก่นสาร" นั่นเอง) คนเราก็ควรมีชีวิตให้มากที่สุด เอาปริมาณมาทดแทนคุณภาพ กามูส์ชื่นชมมนุษย์ไร้สาระอย่างดอนฮวน ผู้ไม่เชื่อถือรักจีรัง เลยไขว่คว้าหญิงสาวคนแล้วคนเล่า หรือศิลปินที่หยิบจับชิ้นส่วนชีวิตมาตกแต่งลงผืนผ้าใบ หน้ากระดาษ เพื่อแสดงให้เห็นความไร้สาระของชีวิต กามูส์เชื่อว่าศิลปะที่ดีต้องนำไปสู่การคิด (thought) ไม่ใช่ความคิด (idea) และการสร้างงานศิลปะคือการไขว่คว้าไม่มีที่สิ้นสุด

กามูส์สรุปบทความด้วยภาพวีรบุรุษกรีกทูนก้อนหินขึ้นบ่า ไม่ว่าชีวิตหลังความตายจะไร้สาระเพียงใดก็ตาม นักเขียนเชื่อว่าซิซซิฟัสยังยิ้มออก

tag 3 คุณอำพรรณ โอตระกูลผู้แปลหนังสือเรื่อง "คนนอก" ของกามูส์ รู้จักกับครอบครัวผมครับ น้องชายคุณอำพรรณเป็นสถาปนิกให้กับบ้านผมเอง ผลงานแปลที่โด่งดังที่สุดของคุณอำพรรณคือเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ปัจจุบันคุณอำพรรณถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอแสดงความเสียใจ และความชื่นชมกับนักแปลผู้มีคุณานุกูลที่สุดคนหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมไทย

1 comment: