U. Eco's "Travels in Hyper Reality"


เพิ่งไปทำบุญเก้าวัดที่อยุธยา กลับมาดูตัวอย่างหนังนเรศวร และได้อ่าน Travels in Hyper Reality ไม่รู้ทั้งหมดนี้คือความบังเอิญหรือเปล่า

รักชวนหัวเป็นแฟนเพลงเก่า และก็จะมีสันดานยะโสๆ แบบแฟนเพลงเก่าทั่วไป คือถ้าเกิดมีเด็กรุ่นหลังมาบอกว่าเพลงคอฟเวอร์เพลงนี้ๆ เป็นเพลงต้นฉบับล่ะก็ ต่อให้หัวร้างข้างแตก เราก็จะไม่มีวันยอมเป็นอันขาด (เคยเกือบบีบคอน้องคนหนึ่งมาแล้ว โทษฐานยืนยันว่าบอย ตรัยเป็นคนแรกที่ร้องเพลง "นิดหนึ่งพอ" ไม่รู้จักแฟนพี่แจ้!) อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปรกติมากๆ ในยุคแห่งสื่อและการผลิตซ้ำ ในที่สุดของลอกเลียนแบบอาจกลายเป็นของจริงแทนที่ต้นฉบับก็ได้ (ขนาดเราเป็นแฟนวงอินโนเซนต์ เรายังยอมรับเลยว่า "ฝากรัก" เวอร์ชั่นที่เพราะที่สุดคือแอน คูณสามร้องไว้ในอัลบั้มกรีนรูม)

เอโคเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าไฮเปอร์เรียลิตี้ หรือสภาพที่ของจำลองเหมือนจริงกว่า และมีคุณค่ายิ่งกว่าของต้นฉบับ ตัวอย่างชัดเจนสุดคือพิพิทธภัณฑ์ Palace of Living Art ในแคลิฟอร์เนีย เป็นพิพิทธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งซึ่งจัดแสดงเฉพาะหุ่นจิตรกร โดยมีหุ่นนางแบบหรือนายแบบโพสต์ท่ายืนอยู่คู่กัน เช่น มีหุ่นดาวินชีทำท่าวาดภาพหุ่นโมนาลิซา ข้อสังเกตของเอโคคือ ด้านหน้าหุ่นจิตรกรจะมีผืนผ้าใบภาพวาดสองมิติวางบนขาตั้ง แต่เหมือนเจ้าของพิพิทธภัณฑ์จะจงใจใช้รูปที่ "ห่วย" เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่างานศิลปะสองมิตินั้น ไม่อาจเทียบเท่ากับหุ่นสามมิติที่ยืนอยู่ตรงหน้าได้ (จะเสียเวลาดั้งด้นไปถึงรูฟเพื่ออะไร ในเมื่อ ณ ที่แห่งนี้ เราสามารถเห็นโมนาลิซ่าตัวเป็นๆ แถมดาวินชีด้วยเอ้า!)

การที่ไฮเปอร์เรียลิตี้โด่งดังและเป็นที่นิยมในอเมริกานั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินความเข้าใจ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความห่ำหั่นกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วสองฝากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อเมริกาอาจเป็นประเทศเดียวในโลกซึ่ง เมื่อสามสิบปีที่แล้ว มีศักยภาพจะสร้างดิสนีย์แลนด์ (สุดยอดดินแดนแห่งไฮเปอร์เรียลิตี้) ขึ้นมาได้ กระนั้นก็ตาม เอโคมองลึกลงไปกว่านั้นอีก

the frantic desire for the Almost Real arises only as a neurotic reaction to the vacuum of memories; the Absolute Fake is offspring of the unhappy awareness of a present without depth.


อีกนัยหนึ่งคือ คนอเมริกาผู้ไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง จำลองประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนจริงที่สุด โดยซ่อนสาส์นลึกๆ ไว้ว่า "จะสนใจทำไมกันกับประวัติศาสตร์ ในเมื่อปัจจุบันนี้ เราสามารถจำลองประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ไฉไลกว่าเดิมด้วยซ้ำ"

แต่พูดไป อาการไฮเปอร์เรียลิตี้ของคนอเมริกาก็ยังตั่งมั่นอยู่บนความต้องการ "อนุรักษ์" ประวัติศาสตร์ ทีนี้ลองหันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง

เราคิดไปเองหรือเปล่าว่า เมืองหลวงเก่า น่าจะเป็นเมืองที่เจริญอันดับ (ถ้าไม่สอง) ก็ต้นๆ ของประเทศ เช่น เกียวโต-โตเกียว เวียงจันท์-หลวงพระบาง (แต่ บอนน์ ในเยอรมันตะวันตก ก็ไม่ใช่เมืองใหญ่อะไร) ถ้าเช่นนั้นอยุธยาก็ต้องถือว่าน่าผิดหวังเอามากๆ บึงพระรามเป็นสวนขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยวัดเก่าวังเก่า น่าจะเป็นสถานที่อันสวยงาม ใครๆ ก็อยากมาเดินเล่นเดินชม ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น แต่ไม่รู้เป็นความตั้งใจหรืออย่างไร ที่ต้องเก็บภูมิทัศน์รอบบึงพระรามให้มันดูโทรมๆ แล้งๆ สมกับโบราณสถานเหล่านั้น (หรือเราผิดเองที่มาช่วงฤดูร้อน)

เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า การสร้างสวน ปรับภูมิทัศน์เป็นงานช้าง สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล แต่เราสงสัย มันจะมากกว่าทุนสร้างหนังนเรศวรสักแค่ไหน เราสามารถทุ่มเทเงินทองไปกับการสร้างไฮเปอร์ฮิสตอรี (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างและน่าเชื่อถือกว่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว) แต่ปล่อยประวัติศาสตร์ให้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวของฝรั่ง

หรือว่านี่คือความตั้งใจ เพราะประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา ไฉไลกว่าซากอิฐซากปูนเป็นไหนๆ สุดท้ายแล้วคนไทยจะรู้จักอยุธยาจากหนังของท่านมุ้ยมากกว่า "ของจริง" ที่เป็นเพียงซากปรักหักพังหรือเปล่า

No comments: