G. Meredith's "An Essay on Comedy"
Comedy รวบรวมสองบทความโดยสามนักเขียน สองบทความแรกเป็นบทความคลาสสิกเกี่ยวกับเรื่องตลกและเสียงหัวเราะของเมเรดิธและเบิร์กสัน Laughter ของเบิร์กสันนั้นเราอ่านแยกต่างหากไปแล้ว เมเรดิธเป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับเบิร์กสัน อ่านบทความชิ้นนี้จบ ก็เข้าใจเลยว่าทำไมเบิร์กสันถึงได้รางวัลโนเบลแต่เมเรดิธไม่ได้ (ฮา) เมเรดิธเป็นนักเขียนมากกว่านักปรัชญา ใน An Essay on Comedy แกคงตั้งใจแสดงความคิดเห็นมากกว่าวิเคราะห์อะไรให้ลึกซึ้ง แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงจงใจเอาบทความนี้มารวมเข้ากับของเบิร์กสัน ทั้งสองมองเห็นสิ่งหนึ่งตรงกันกันคือบทบาทเชิงวิพากษ์สังคมของเสียงหัวเราะ
ประเด็นเดียวเลยที่น่าสนใจในบทความของเมเรดิธคือแกแบ่งเรื่องขำขันออกเป็นสี่ประเภท ประเภทแรกคือการประชดประชัน (Satire) ซึ่งมีเป้าหมายคือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวาจา การย้อนแย้ง (irony) คือหลอกด่าอีกฝ่าย ให้เขางงๆ ว่าเรากำลังด่าอยู่แน่หรือเปล่า โปกฮา (Humor) เป็นความขำขันที่เกิดจากการล้อเล่นเอ็นดู และสุดท้ายสุขนาฏกรรม (Comedy) ซึ่งเมเรดิธจัดว่าอยู่ในระดับสูงสุด เป็นความขำขันอันเกิดจากการมองเห็นและเข้าใจอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้ ไม่เคยเห็นใครแยกแยะเรื่องตลกเป็นจำพวกๆ โมเดลนี้น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย เมื่อมองไปรอบตัว เห็นอะไรขำขัน เราก็สามารถจัดสรรได้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น พี่โน้ต อุดมคงอยู่ระหว่างโปกฮาและประชดประชัน ส่วนคุณเรณู ปัญญาดีเป็นพวกย้อนแย้งบวกสุขนาฏกรรม
เมเรดิธตั้งสมมติฐานขึ้นมาข้อหนึ่งซึ่งเท่มาก แต่แกไม่ได้หาหลักฐานอะไรมาวิเคราะห์สนับสนุน เมเรดิธบอกว่าวัฒนธรรมใดยิ่งมีความทัดเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ความตลกก็ยิ่งวิวัฒนามากขึ้นในวัฒนธรรมนั้น จากโมเดลนี้ เมเรดิธสรุปว่าคนอาหรับนั้นเส้นลึกกว่าคนเยอรมัน ซึ่งเส้นลึกกว่าคนอิตาลี และที่เส้นตื้นสุดสองประเทศคู่คี่กันมา (และมีอารยธรรมสูงสุดด้วย) คืออังกฤษและฝรั่งเศส
เรื่องคนอาหรับไม่รู้ แต่สำหรับเยอรมัน ยืนยันได้ว่าประเทศนี้ไม่ฮาจริงๆ มีโจ๊กฝรั่งเขาบอกว่า นรกเป็นอย่างไรน่ะหรือ คือที่ที่คนอังกฤษทำอาหาร คนฝรั่งเศสขับรถ แล้วก็คนเยอรมันเล่าเรื่องตลกนั่นเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment