มีหลายบทเรียนจากกรณีศึกษาความล้มเหลวของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเลโซโท หยิบยกมาประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิด และดูเกี่ยวพันกับบ้านเราคือ แนวโน้มของพัฒนากร ทั้งกลุ่มเอนจีโอและจากธนาคารโลก ที่จะแบ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเป็นสองจำพวก คือตามวิถีตลาดสมัยใหม่ และแบบดั้งเดิม ในเลโซโท คนชอบเลี้ยงวัวกันมาก วัวเป็นมากกว่าสัตว์เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพ และมีความสำคัญในแง่วัฒนธรรม ความพยายามที่จะผันวัวเข้ามาสู่ระบบตลาด (ชักชวนให้ชาวเลโซโทเลี้ยงวัวเพื่อขาย) จึงประสบความล้มเหลว เพราะชาวบ้านไม่ยอมขายวัวกัน
การมองเศรษฐศาสตร์แบบทวิภาคเช่นนี้ นำไปสู่ Dilemma ว่าเราควรจะปรับตัวตามแนวเศรษฐกิจโลก หรือเลี้ยงวัวกันอย่างพอเพียงตามวิถีชาวบ้าน เฟอร์กูสันชี้ให้เห็นว่า อันที่จริง ทางเลือกแบบนี้เกิดมาจากการที่พัฒนากรยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมเลโซโทดีพอ วิถีตลาดไม่ได้แบ่งแยกจากวิถีชาวบ้าน ชาวเลโซโทรู้จักตลาด รู้จักการค้าวัวมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 The Anti-Politics Machine อธิบายว่า วิธีชาวบ้านแท้จริงตอบสนองตรรกะของตลาดอยู่ในที คนเลโซโทไม่ได้มองว่าวัวเป็นสัตว์เทพเจ้าที่ห้ามซื้อขาย แต่เขามองวัวเป็นกองทุนเกษียณอายุต่างหาก และภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง คนเลโซโทพร้อมยินยอมที่จะขายวัว (เช่น ผู้หญิงมีแนวโน้มอยากขายวัวมากกว่าผู้ชาย คนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า ทั้งหมดนี้เป็นไปตามตรรกะทุนนิยมเวอร์ชั่นเลโซโท)
ตลาดไม่ได้เป็นศัตรูกับวิถีท้องถิ่น ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีท้องถิ่นมาแต่ช้านาน และวาทกรรมการพัฒนาใดๆ ก็ตามที่ไม่ตระหนักความจริงข้อนี้ ย่อมประสบความล้มเหลว
No comments:
Post a Comment