E. Fromm's "Escape from Freedom"
Escape from Freedom เป็นหนังสือที่เราอ่านด้วยความรู้สึกขัดแย้งมากๆ เป็นความขัดแย้งระหว่างความคิด และวิธีสื่อสาร ฟรอมม์เป็นนักจิตวิทยา/ปรัชญาการเมืองที่ฉลาดล้ำที่สุดคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันแกเป็นนักเขียนที่แย่เอามากๆ อ่านหนังสือ non-fiction ที่เขียนแย่ๆ แบบนี้ ทำให้เข้าใจว่าเขียนดีๆ นั้นเป็นอย่างไร และเหตุใดสมัยก่อนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึงแจกให้นักปรัชญาได้
แต่เดี๋ยวก่อน ความแย่ในการเขียนของฟรอมม์ไม่ใช่ว่าสื่อสารไม่รู้เรื่อง ตรงกันข้าม ฟรอมม์เขียนอย่างตรงไปตรงมา และประเด็นสำคัญถูกนำมาย้ำซ้ำๆ ตลอดทั้งเล่ม ถ้าเป็นแฟนหนังสือจะรู้สึกว่าเป็นวิธีเขียนที่น่าเบื่อ แต่ก็ช่วยให้ Escape from Freedom เป็นหนังสืออ่านง่าย ชนิดว่าเราอยากให้คนไทยทุกคนได้ลองอ่าน
เพราะความคิดของฟรอมม์นั้นจำเป็นมากๆ กับสังคมไทยในขณะนี้
ประเด็นหลักสองข้อซึ่งแกนำเสนอซ้ำไปซ้ำมา คือผลเสียของอิสรภาพ 1) อิสรภาพนำมาซึ่งความเป็นปัจเจก แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงความโดดเดี่ยว และรู้สึกไร้กำลัง 2) อิสรภาพที่จะคิด เขียน หรือกระทำอะไรได้ดังใจ ไม่มีความหมายใดๆ ถ้าปัจเจกไม่อาจคิด เขียน หรือกระทำสิ่งเหล่านั้นจากความตั้งใจของตัวเอง (และมันช่างแสนง่ายดายเหลือเกินที่จะป้อนความคิดไปยังปัจเจกให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาได้ยินมาจากแหล่งอื่น เป็นความคิดของตัวเอง) โดยอิสรภาพนั้นเกิดจากระบบเศรษฐกิจ และวิธีคิดแบบทุนนิยม
อืม...เพิ่งพูดไปหยกๆ ว่าอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่าน แต่ไปๆ มาๆ ตอนนี้ชักลังเลแล้วสิ เพราะประเทศเราเต็มไปด้วยปัญญาชน(แอบอ้าง)ผู้เอะอะก็ตีค้าตีความเป็นต่อต้านทุนนิยมไปหมด เดี๋ยวอ่านไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดจะมาหาว่าฟรอมม์พูดถึงมันในแง่ลบเปล่าๆ แม้ทุนนิยมจะนำมาซึ่งอิสรภาพ แต่อิสรภาพนั้นก็มีข้อเสีย ซึ่งเราต้องตระหนักตรงจุดนี้ให้ได้ มิฉะนั้นจะถูกหลอกให้จำนนอิสรภาพ และหันไปหารูปเคารพ และระบบอื่นๆ ซึ่งทรามกว่าร้อยเท่าพันเท่า (สมัยที่ฟรอมม์เขียนหนังสือเล่มนี้ ระบบที่ว่าก็คือนาซี และรูปเคารพดังกล่าวก็คือฮิตเลอร์ แต่ในปัจจุบันจะตีความเป็นคอมมิวนิสต์ เลนนิน สตาลิน หรือเจ้าของสำนักพิมพ์แห่งสารขันประเทศก็ได้) Escape from Freedom เสนอคำอธิบายที่เราหามาแสนนานว่าทำไมมนุษย์ถึงถูกหลอกให้เชื่ออะไรเป็นหมู่คณะได้ง่ายจัง ทั้งที่ความเชื่อเหล่านั้นบางทีก็แสนจะไร้สาระ
หนังสือเล่มนี้ยังมีอะไรเจ๋งๆ อีกเยอะ ฟรอมม์ไม่ใช่แค่วิเคราะห์ข้อเสียของอิสรภาพในแง่การเมือง แต่ยังพูดถึงความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย แม้วิธีการเขียนจะชวนอึดอัด แต่ถ้ามีโอกาส เราก็ยังจะขอติดตามต่อไป
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
Post a Comment