K. M. Brown's "Mama Lola"


มีคนชอบหาว่านักวิทยาศาสตร์สื่อสารกับคนธรรมดาไม่รู้เรื่อง ถึงกับต้องมีอาชีพ "ผู้สื่อข่าวตัวกลาง" สำหรับเขียน และอธิบายสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พูด ให้คนธรรมดาฟังอีกทอดหนึ่ง ในฐานะที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่รู้หรอกว่าข้อกล่าวหานี้จริงหรือเปล่า แต่คิดว่า อีกอาชีพที่สื่อสารกับคนธรรมดาไม่ค่อยรู้เรื่อง คือพวกอาชีพเวทมนตร์ คาถา พ่อมดหมอผีนี่แหละ เคยมีนิยายไทยเรื่องหนึ่งซึ่งเขียนเกี่ยวกับนาฏศิลป์คนทรงเจ้า อ่านดูก็รู้ว่าคนเขียนใส่ใจ และรักหัวข้อเรื่องอย่างมาก อาจจะมากไปเสียด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายก็ได้แต่บอกว่าการรำชนิดนี้มันเลิศนะจ๊ะ ใครที่ศึกษา ที่มาทางนี้ ฉลาดปราดเปรื่อง เป็นปราชญ์ เป็นเมธี แต่ก็เท่านั้นเอง ไม่อาจสื่อสารความเลอเลิศเหล่านั้น ให้คนธรรมดาเข้าใจ หรือชื่นชมได้

อะไรที่มันเป็นเหตุเป็นผลมากๆ และไร้เหตุไร้ผลมากๆ ก็ยากทั้งนั้นแหละจะให้คนทั่วไปเข้าถึง

เมืองไทยจึงต้องการคนอย่างคาเรน แมคคาธี บราวน์ ผู้เขียน Mama Lola บราวน์เป็นคนขาวที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมวูดู ซึ่งเป็นกึ่งศาสนา กึ่งเวทมนต์คาถาของชาวเฮติ เธอเข้าไปคลุกคลีกับเอลัว นักบวชหญิงแห่งวูดู ที่อาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ก บราวน์สามารถทำให้คนอ่านทั่วไป ที่ไม่เคยสัมผัสอะไรเกี่ยวกับวูดูเลย นอกจากภาพลบของมัน ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ได้เข้าใจที่มาที่ไปของวัฒนธรรมนี้ ได้เห็นทั้งข้อดี และข้อเสีย และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าวูดูคือมนต์ดำคำสาปหรือ "ศาสนาแห่งการอยู่รอด" กันแน่

บราวน์พูดได้น่าขบคิดมากว่ามีแต่ศาสนาของคนขาว หรือคนร่ำรวย อย่างศาสนาคริสต์เท่านั้น ที่พูดถึงเรื่องศีลธรรม วูดูซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างศาสนาคริสคาทอลิก และความเชื้อแอฟริกาดั้งเดิม ผสานกันอยู่ในประเทศที่ตัดตัวเองจากโลกภายนอกเป็นเวลาเกือบสามศตวรรษ ประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก เกิดเป็น "ศาสนาแห่งการอยู่รอด" ศาสนาที่สอนให้ผู้ศรัทธาต่อรอง เจรจาธุรกิจกับเทพเจ้า ศาสนาที่ไม่เชื่อในสถาบันครอบครัว พ่อ แม่ ลูก และศาสนาที่อนุญาตให้ผู้ศรัทธาพูดเท็จ หรือปกปิดความจริงได้ เพื่อการอยู่รอด

พิธีกรรมของวูดูจะเกี่ยวพันกับการเข้าทรงลงเจ้า ซึ่งคนทรงก็เรียกคล้ายๆ ของไทยว่า "ม้า" ผิดแต่คนที่มาลงไม่ใช่วิญญาณบรรพบุรุษ หากเป็น "เทพ" หรือพูดให้ถูกคือนักบุญตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ โดยแต่ละบทของ Mama Lola จะพูดถึงนักบุญแต่ละตนที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน บ้างก็เป็นเทพแห่งสงคราม แห่งการค้าขาย แห่งความอดทน แห่งเกษตรกรรม โดยแต่ละบุคคลจะมีเทพประจำตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเทพองค์อื่นเลย ไม่ว่าในการตัดสินใจอะไรก็ตาม เป็นน้ำเสียงของเทพทุกองค์ที่โต้แย้งถกเถียงไปมาจนกว่าจะได้ข้อสรุป ที่เป็นผู้ตัดสิน ปรัชญาวูดูลื่นไหล และใกล้เคียงกับจิตวิทยาในความเป็นจริงมาก เพราะคงไม่มีมนุษย์สามมิติคนใดที่แบนๆ มีนิสัยแค่ด้านเดียว

ประเทศไทยเรา ในปัจจุบัน รับเอาศาสนาพุทธเข้ามาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีเทพอะไรแบบนี้ให้มาเข้าทรง มีแต่วิญญาณคนตาย ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่าย้อนไปสักแปด เก้าร้อยปีก่อน วิญญาณที่มาเข้าทรงจะเป็นพระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระพิรุณอะไรแบบนี้หรือเปล่า ถ้าใช่ ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงได้สูญหายไปจากวัฒนธรรมไทย

บราวน์ยังเล่าชีวประวัติของครอบครัวของอาลัว ตั้งแต่รุ่นทวด จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน บราวน์จงใจให้ครอบครัวนี้คือตัวแทนความยากลำบากของชีวิตชาวเฮติ และชาวเฮติที่อพยพมาในนิวยอร์ก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจศาสนาวูดูอย่างชัดเจนขึ้น บราวน์ใช้วิธีเล่าเรื่องสลับไปมา บางทีก็กระโดดข้ามฉากชีวิตของอาลัว จากจุดนี้ ไปยังจุดนั้น ซึ่งก็ทำให้ตามเรื่องยากอยู่เหมือนกัน การใช้ครอบครัวเดียวเป็นโลกขนาดเล็ก (microcosm) สะท้อนสิ่งที่ใหญ่กว่า ก็เป็นเทคนิกที่ดีในการทำให้คนอ่านเข้าใจเฮติ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ประเทศเฮติจริงๆ ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย (คุ้นๆ ว่ามันเลิกทาสก่อนประเทศอื่นใดในโลก) ถ้าบราวน์จะเปิดพื้นที่ตรงนี้ อธิบายประวัติศาสตร์เฮติ ก็คงช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

No comments: