T. Ziolkowski's "The Novels of Hermann Hesse"
เปรียบเทียบวิธีที่เรา ในฐานะชาวตะวันออก และซิโอคอฟสกี นักวิชาการวรรณกรรมชาวตะวันตก อ่านนิยายของเฮสเสอะ น่าจะพอสรุปรวมเป็นความแตกต่างระหว่างตะวันตกและตะวันออกได้ดีในระดับหนึ่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ทวีปยุโรปถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยคำถามว่า เหตุใดดินแดนแห่งภูมิปัญหาและความรู้แจ้งถึงได้เป็นแหล่งเพาะเชื้อการเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้าย คำถามนี้ นำไปสู่ศิลปะและแนวคิดสกุลต่างๆ เช่น เซอร์เรียลิสต์ ก็คือความพยายามที่จะผนวกเหตุและผลเข้ากับความไร้เหตุไร้ผลเพื่อสร้างลัทธิใหม่ที่จะไม่เข่นฆ่า
ความคลั่งไคล้ตะวันออกก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ตามที่ซิโอคอฟสกีวิเคราะห์ เฮสเสอะใช้ศาสนาตะวันออก (โดยเฉพาะฮินดูและพุทธ) เป็นรากฐานของปรัชญาแผนใหม่ที่ผนวกทุกอย่างเข้าด้วยกัน สถานที่และเวลา สร้างโลกที่ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่มีเขา ไม่มีเรา ทุกอย่างล้วนเป็นหนึ่งเดียว
ในฐานะชาวตะวันออก ก็ต้องยอมรับว่าฟังดูเป็นพุทธศาสนาดีทีเดียว (มีเรื่องตลกเล่าว่า ดาไลลามะเดินเข้าร้านพิซซ่า หลังจากยืนเลือกพักใหญ่ เด็กเสิร์ฟก็มาถามท่านว่าต้องการอะไร ดาไลลามะตอบว่า "Can you make me one with everything?")
คงเป็นเรื่องเปล่าดายที่เราจะมานั่งวิจารณ์ว่าเฮสเสอะเข้าใจพุทธศาสนาดีแค่ไหน (ถึงได้ "กล้าดี" ขนาดเขียนนิยายเรื่อง สิทธัตถะ) น่าจับตามองมากกว่าว่าตั้งแต่ Demien จนถึง The Glass Bead Game ความพยายามของเฮสเสอะพัฒนาไปอย่างไร
สำหรับเรา Demien เป็นนิยายที่ "คัลท์" มาก เพื่อนฝรั่งหลายคนชอบเล่มนี้ ทั้งที่มันว่าด้วยการก้าวออกจากเหตุและผลกลับไปหาความงมงาย เช่นเดียวกับบางองค์ประกอบของ The Steppenwolf ซึ่งเขียนในยุคที่คนยังเชื่อว่าการพี้ยาพาให้เราเข้าใกล้สัจธรรม The Glass Bead Game อ่อนน้อมถ่อมตนกว่า เฮสเสอะดูจะละความพยายามที่จะผนวกทุกอย่างเข้าหากันแล้ว แต่มุ่งเป้าไปที่ประเด็นง่ายๆ อย่างการ "ถีบ" นักวิชาการออกจากหอคอยงาช้าง
นิยายของเฮสเสอะที่เราชอบสุดคือ Narziss and Goldmund ถ้ามองผ่านแว่นการวิเคราะห์ของซิโอคอฟสกี้ นี่คือนิยายที่ล้มเหลวเพราะเฮสเสอะไม่สามารถรวมอะไรสักอย่างเข้าหากันได้ Narziss and Goldmund คล้ายคลึงกับนิยายยุคแรกๆ ของเฮสเสอะอย่าง Knulp ที่พูดถึงความสวยงามของสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่อาจคว้าจับเอาไว้
สำหรับชาวตะวันตก โครงการณ์รวบรวมสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวอาจฟังดูโรแมนติก และเหมือนจะเป็นทางออกของทุกปัญหาในโลกนี้ แต่สำหรับชาวตะวันออก เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่โดยผิวเผินทุกอย่างถูกรวมเป็นเนื้อเดียว โดยปฏิเสธความหลากหลายอยู่หรือเปล่า
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment