S. Freud's "Civilization and its Discontents"


เคยคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เขาปฏิบัติธรรมกัน บ่อยครั้งจะได้ยินพวกเขาบ่นว่า เวลาที่ทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เพราะอิจฉา เศร้า หรือเหงา มันจะเป็นความทุกข์แบบสองชิ่ง ชิ่งแรกคือทุกข์เพราะอยากได้อยากมี อีกชิ่งคือทุกข์เพราะผิดหวังกับตัวเอง ทำไมเราถึงต้องทุกข์ด้วยนะ (เพราะเรารู้ว่าตัวเองไม่ควรทุกข์) ดังนั้น ก่อนอื่นขั้นตอนแรกของการรับมือกับความทุกข์ ก็คือต้องยอมรับว่าฉันกำลังทุกข์นะ เข้าใจ โอเค อย่าไปปฏิเสธมัน

บางครั้งการที่เราร่ำเรียนมาทางธรรมมากๆ เข้า ก็อาจทำให้เรามีทุกข์แบบที่คนอื่นเขาไม่มีกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ควรศึกษาธรรมนะ เพราะเอาเข้าจริงๆ ความทุกข์ในชิ่งที่สองนี่มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราอยู่แล้วละ

Civilization and its Discontents ว่าด้วยความทุกข์ในแบบที่สองนี้ แน่นอนว่าฟรอยด์ไม่ได้กำลังพูดถึงศาสนาพุทธ ฟรอยด์เชื่อว่าความทุกข์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอารยธรรม เป็นทุกข์ที่เกิดจากความรู้สึกผิด เพราะศาสนาสอนเราว่าไม่ควรทำอย่างนู่นอย่างนี้ ต่อให้บาปของเราแค่อยู่ในขั้นมโนกรรม super-ego ในสมองก็จะสั่งให้เราทรมานตัวเองเพราะความรู้สึกผิดตรงนี้ ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ไม่ได้หมายความว่าเราควรปฏิเสธกฎข้อห้ามทางศีลธรรม เพราะมันเป็นเงื่อนไขที่ช่วยให้อารยธรรมเกิดขึ้นมา

ยิ่งอ่านหนังสือของฟรอยด์ ก็ยิ่งช่วยให้เราเข้าใจ เหตุใดเราถึงเปิดรับปรัชญาแบบเยอรมัน แต่รับแนวคิดแบบฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ Civilization and its Discontents คือตำรามานุษยวิทยาที่ตรงข้ามกับมานุษยวิทยาแบบฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง (โดยในที่นี้ขอถือว่ามานุษยวิทยาแบบฝรั่งเศสมีต้นกำเนิดมาจากรุสโซก็แล้วกัน) รุสโซคือเจ้าพ่อของลัทธิยกย่องความป่าเถื่อน สภาพดั้งเดิมสุดของมนุษย์คือ “คนป่าผู้ทรงศักดิ์” (“Noble Savage”) รุสโซเชื่อว่าสภาพดั้งเดิมนี่แหละที่มนุษย์เรามีความสุขสุด และอารยธรรมคือเชื้อโรคที่กัดกินความเป็นคน และส่งผลให้เราสุขน้อยลงไปเรื่อยๆ ฟรอยด์จะตรงข้ามกับรุสโซโดยสิ้นเชิง โดยฟรอยด์มองเห็นความจำเป็นของอารยธรรม และเพื่อการสร้างอารยธรรรม (ซึ่งก็คือการที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ) สัญชาตญาณดิบถ่อยของคนป่าต้องถูกกดเก็บเอาไว้ และนั่นต่างหากสาเหตุที่มนุษย์สมัยใหม่เป็นทุกข์กัน

เราเห็นด้วยกับฟรอยด์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็คงไม่มานั่งถกเถียงกับรุสโซตัวต่อตัวหรอก ปล่อยให้มหายักษ์สองท่านนี้เขาไปเถียงกันเองบนสวรรค์ดีกว่า สิ่งที่คนเดินดินอย่างเรายังทำได้คือ วิพากษ์วิจารณ์ว่าแนวคิดหลายอย่างในประเทศไทยได้รับอิทธิพลฝรั่งเศสมามากเกินไปแล้ว ควรจะหาอะไรที่เป็นเยอรมันๆ มาอ่านกันบ้างก็ดีนะ

No comments: