S. Kierkegaard's "Fear and Trembling"


อ่านงานเขียนนักอัตถิภาวนิยมมาสี่ห้าคนแล้ว ถ้าถามเราว่าใครโดนใจสุด ตอนนี้คงตอบว่าซอเรน เคิร์กการ์ด บิดาแห่งอัตถิภาวนิยมผู้นี้แหละ เคิร์กการ์ดเป็นคนน่าสนใจ แกเป็นนักปรัชญาคนเดียวที่ศรัทธาในพระเจ้า (ของศาสนาคริสต์) รู้สึกว่าคุณสมบัติตรงนี้แปลก เพราะปรัชญา และศาสนาเหมือนน้ำกับน้ำมันยังไงไม่ทราบ

ต้องตีความอยู่นานเลยกว่าจะเข้าใจเหตุใด เคิร์กการ์ดถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอัตถิภาวนิยม เตือนความทรงจำกันนิดหนึ่ง อัตถิภาวนิยมคือปรัชญาที่เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนจะต้องสร้างแนวทาง ความเชื่อ และหลักปฏิบัติของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นโดยผิวเผินแล้ว คนที่เชื่อถือในพระเจ้า และศาสนา น่าจะเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับนักอัตถิภาวนิยมที่สุด (ยกตัวอย่างนิทเช่นั่นปะไร)

เคิร์กการ์ดแยกความแตกต่างระหว่าง “ศีลธรรม” และ “ศาสนา” (หรือ “พระเจ้า”) แกบอกว่าศีลธรรมคือสิ่งที่เป็นสากล (universal) มีมาเพื่อควบคุมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (ตรงข้ามกับนิทเช่ เคิร์กการ์ดไม่ได้ปฏิเสธ หรือต่อต้านศีลธรรมเสียทีเดียว) แต่มนุษย์ที่เป็นยอดจริงๆ ต้องเข้าถึงความสมบูรณ์ (absolute) ให้ได้ ซึ่งความสมบูรณ์ก็คือพระเจ้านั่นเอง ส่วนวิธีเข้าถึงพระเจ้านั่น เคิร์กการ์ดบอกว่าต้องใช้ “ศรัทธา” ซึ่งไม่อาจสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ได้ (หลักตรงเองที่เป็นอัตถิภาวนิยม หลักปรัชญาใครปรัชญามัน)

ใน “ความกลัว และตัวสั่น” เคิร์กการ์ดใช้ตัวอย่างจากไบเบิ้ล เรื่องราวของอับราฮัมที่บูชายัญลูกชายหัวแก้วหัวแหวนตามคำสั่งพระเจ้า เรื่องราวส่วนนี้ในไบเบิ้ลจริงๆ ยาวแค่ไม่กี่บรรทัด แต่เคิร์กการ์ดจับมาวิเคราะห์ทั้งนอกและในอย่างถึงกึ๋น ประการแรกเคิร์กการ์ดอธิบายความแตกต่างระหว่างอับราฮัม และพระเอกโศกนาฏกรรมทั่วไป เช่นอากาเมนอน ผู้บูชายัญลูกสาวตัวเองให้กับเหล่าทวยเทพ เพื่อจะได้เคลื่อนทัพต่อไปตีเมืองทรอย เขาบอกว่าอากาเมนอนคือตัวอย่างคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งก็คือศีลธรรม หรือสิ่งที่เป็นสากล ตรงนี้แตกต่างกับอับราฮัม เพราะการกระทำของอับราฮัมไม่อาจใช้หลักศีลธรรมใดๆ มาอธิบายได้


คำพูดหนึ่งซึ่งเคิร์กการ์ดใช้บ่อยมากในหนังสือคือ paradox ถ้าอับราฮัมไม่ทุกข์ทรมานกับการตัดสินใจของตัวเองเสียอย่าง การกระทำของเขาจะไม่มีความหมายใดๆ เลย ไบเบิ้ลบอกว่าอับราฮัมรักไอแซคมาก เพราะเด็กชายเป็นของขวัญจากพระเจ้า หลังจากรอคอยมานานถึงเจ็ดสิบปี กระนั้นถ้าอับราฮัมมีศรัทธาในพระเจ้าอย่างแท้จริง เขาก็ต้องเชื่อว่าพระองค์ไม่มีทางพรากไอแซคไปจากเขา มิเช่นนั้นแล้วอับราฮัมน่าจะเสียสละตัวเองมากกว่า ดังนั้นตรงนี้เองจึงเกิดเป็น paradox ขึ้นว่า อับราฮัมรู้สึกเช่นไร ขณะปีนเขาไปยังแท่นบูชายัญ เขาชิวๆ เพราะศรัทธาว่าพระเจ้าจะไม่มีทางปล่อยให้เขาฆ่าไอแซค (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายถึงบททดสอบนี้ไม่มีคุณค่าใด) หรือทุกข์ทรมาน (ซึ่งก็หมายความอีกนั่นแหละว่าอับราฮัมไม่ได้มีศรัทธาอย่างแท้จริง)

คงไม่มีใครจะตอบคำถามนี้ได้ บทสุดท้ายของ "ความกลัว และตัวสั่น" เคิร์กการ์ดพูดเลยว่าศรัทธาของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ เราสามารถสื่อสารศีลธรรมซึ่งกันและกัน เพราะศีลธรรมคือบรรทัดฐานที่ใช้สร้างความเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นศ๊ลธรรมและภาษาเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่ศรัทธาคือความรู้สึกเฉพาะตัว ดังนั้นไม่อาจสื่อสาร หรือเปิดเผยให้ใครอื่น (นี่กระมัง ใครๆ ถึงได้เรียกแกว่าบิดาแห่งอัตถิภาวนิยม)

ในฐานะที่เราเป็นชาวพุธ อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเคิร์กการ์ดเกิดในประเทศไทย แกคงสนุกสนานกับตำนานพระเวสสันดรทีเดียว จริงๆ ตำนานพระเวสสันดร ก็มีอะไรหลายอย่างใกล้เคียงอับราฮัม การเสียสละลูกชาย "ไม่ใช่" เพื่อส่วนรวม แต่เพราะศรัทธาในโภคผลภายภาคหน้า เราสงสัยมาตลอดว่าพระเวสสันดรรับรู้แค่ไหนว่าสุดท้ายชูชกจะต้องตาย และกัญหา ชาลีได้กลับมาอยู่ในอ้อมอกตัวเอง ถ้าท่านรู้เช่นนี้ จะยังเรียกทานอันยิ่งใหญ่นี้ว่า "ทานอันยิ่งใหญ่" ได้หรือไม่ และถ้าท่านไม่รู้เล่า แบบไหนที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน

ถือเป็น paradox ชวนขบคิดสนุกๆ ก็แล้วกัน

4 comments:

emu said...

สวัสดีครับคุณLaughable Loves
ผมอยากขอคำแนะนำหน่อยครับ ตอนนี้เพิ่งศึกษาปรัชญาใหม่ๆอยู่ครับ แล้วกำลังต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่องfear and trembling เนี่ยครับ
คืออยากจะขอรบกวนถามหน่อยนะครับ พอดีอ่านแล้วยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมหรือสาเหตุอะไรที่เพียงพอที่จะทำให้พ่อต้องบูชายันลูกตนเองให้กับพระเจ้านะครับ
นอกจากศรัทธาแล้ว แต่ว่าผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมศรัทธาถึงมีมากขนาดนั้น

แล้วพอจะแนะนำได้มั้ยครับว่าบทไหนสำคัญที่สุดที่อ่านแล้วจะทำให้เข้าใจกระจ่างได้มากที่สุดนะครับ

รบกวนหน่อยนะครับ ขอบคุณมากๆๆครับ

laughable-loves said...

กะว่าจะเข้ามาตอบตั้งนานแล้ว แต่ลืมไปเลย ขออำภัยอย่างแรงครับ (จริงๆ ถ้าข้อความส่วนตัวแบบนี้ ส่งไป laughable-loves@hotmail.com อาจจะสะดวกกว่านะครับ)

ผมคิดว่าเงื่อนไขของศรัทธาอยู่ที่ว่า อับราฮัมเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่า พระเจ้าคงไม่ปล่อยให้เขาฆ่าลูกตัวเองแน่ๆ จะมองตรงนี้ว่าเป็นการ bluff กันระหว่างพระเจ้า และอับราฮัมก็ได้ ซึ่งในทางกลับกัน ก็สามารถตั้งคำถามได้อีกว่า อย่างไหนที่ประเสริฐกว่ากัน อับราฮัมผู้ยอมสละชีวิตลูกชายคนแรก และคนเดียว หรืออับราฮัมผู้มีศรัทธาในเมตตาจิตของพระผู้เป็นเจ้า

ไม่รู้ว่าช่วยหรือเปล่า ลองดูนะครับ

emu said...

ขอบคุณมากๆครับ

จริงๆมีคำถามเยอะมากครับ แต่เกรงใจ เด๋วลองพยายามเรื่อยๆดู

ภาษาอังกฤษผมไม่แข็งแแรงนี่อ่านแล้วลำบากใจจริงๆครับ
--'

Anonymous said...

We're a group of volunteers and opening a new scheme in our community. Your web site offered us with valuable info to work on. You've
performed a formidable task and our whole neighborhood will be thankful to you.


Here is my blog: uk payday loan