M. Levitt's "Hamas"


ลังเลอยู่นานว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ดีหรือเปล่า กระทั่งได้อ่านบทความนี้จากเวปประชาไท เลยตัดสินใจว่าการมองต่างมุมตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ณ ปัจจุบัน

เราเองก็ไม่รู้ว่าแมททิว เลวิตเป็นใคร นอกจากเป็นศาสตราจารย์วิชาการศึกษาขบวนการก่อการร้ายแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เคยรับตำแหน่งสำคัญๆ ใน FBI และ กระทรวงการคลังของอเมริกา พูดแบบนี้ก็เหมือนจะรู้เยอะ แต่ประเด็นสำคัญคือเราไม่รู้ว่า Hamas ถูกเขียนจากมุมมองที่เป็นกลางและเชื่อถือได้แค่ไหน เช่นเดียวกับที่เราไม่รู้จักนักวิชาการในบทความที่อ้างถึง แต่อย่างไรก็ขออนุญาติโต้ผ่านทางหนังสือ Hamas เล่มนี้ก็แล้วกัน

เลวิตวิเคราะห์โครงสร้างของกลุ่มฮามาส ซึ่งเคยเป็นขบวนการก่อการร้ายเลื่องชื่อในตะวันออกกลาง โดยมีจุดกำเนิดมาจากประเทศอียิปต์ ฮามาสเขย่าโลกด้วยการชนะการเลือกตั้งของปาเลสไตน์ในปี 2006 และจากนั้นดำเนินกิจการก่อการร้ายควบคู่ไปกับกิจการการเมือง ประเด็นสำคัญที่เลวิทต้องการพูดถึงคือ เราไม่อาจแยกกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ของฮามาส ออกจากกิจการก่อการร้ายของกลุ่มได้ หัวหอกสำคัญในการบริจาค ช่วยเหลือคนยากคนจนของฮามาส ก็คือบุคคลเดียวกันกับที่วางแผนระเบิดฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลของฮามาสคือสถานที่เดียวกับที่ใช้เก็บอาวุธสงคราม เพราะกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ตรงนี้เอง ช่วยให้ฮามาสสามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2006 และกลายเป็นรัฐบาลที่ปกครองปาเลสไตน์อย่างออกนอกหน้า เลวิทวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของฮามาสว่าส่วนหนึ่งก็คือการ "ซื้อเสียง" โดยนำข้าวปลาอาหารไปแจกให้กับราษฎร

ในความเห็นเรา และเลวิท ความเข้าใจสภาพ "สองหน้า" ของฮามาสตรงนี้สำคัญมาก (และเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่างจากขั้วศีลธรรมทางตะวันตก หรือกระทั่งศาสนาพุทธในประเทศไทยเอง) สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มฮามาสขึ้นมามีอำนาจอยู่ได้ในปัจจุบัน ก็เพราะช่องโหว่ในนโยบายของอิสราเอลที่สนับสนุนองค์กรอิสลามเพื่อสันติภาพ ฮามาสซึ่งมีใบหน้าด้านหนึ่งเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์จึงดำเนินการ และเติบโตได้ในระยะแรกๆ และปัจจุบันนี้การใช้กำลังทหารของอิสราเอลเพื่อล้มล้าง สังหาร "หัวหน้าขบวนการก่อการร้าย" ก็เป็นการฆ่า ทำลาย "นักสังคมสงเคราะห์" ที่ช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ผู้ยากจนด้วย ส่วนหนึ่งเราจึงไม่แปลกใจที่ทั่วโลกหันมาประนามการกระทำของอิสราเอล และขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวมีแง่มุมให้ขบคิด และ "ยอมรับได้" มากไปกว่าแค่การ "สร้างกำแพงความหวาดกลัว"

แต่จะมีไหม อย่างน้อยสักวันหนึ่งที่คนไทยจะสามารถมองอะไรซับซ้อนไปกว่าขั้วบวก ขั้วลบ ดำ ขาว ที่ชัดเจนได้

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ