G. Graham's "Philosophy of the Arts"
Philosophy of the Arts แบ่งเป็นสามส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก เกรแฮมพูดถึงทฤษฎีความสวยงามสี่อย่าง ทฤษฎีเหล่านี้พยายามตอบคำถามว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นงานศิลปะ ทฤษฎีแรกอ้างอิงปรัชญาของฮูม กล่าวว่างานศิลปะต้องก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้เสพ ทฤษฎีที่สองอ้างอิงปรัชญาของคานท์ กล่าวว่างานศิลปะต้องกอปรไปด้วยความงาม ทฤษฎีที่สาม ศิลปะต้องสื่อสารอารมณ์ได้ และทฤษฎีสุดท้ายอ้างอิงปรัชญาของเฮเกล ศิลปะต้องให้ความรู้ต่อผู้เสพ
เนื่องจากเป็นทฤษฎีสุดท้ายซึ่งเกรแฮมเห็นด้วย จึงอยากอธิบายละเอียดนิดหนึ่ง เกรแฮมบอกว่าการพิจารณางานศิลปะใดๆ ไม่ใช่ว่าเรามองโลกแห่งความจริง เพื่อเอามาตัดสินว่างานศิลปะนั้นๆ มันสะท้อนความจริงออกมาได้หรือเปล่า แต่เราต้องทำตรงกันข้ามเลย คือเมื่อชมงานศิลปะแล้ว เหลียวมองโลกแห่งความจริง งานศิลปะนั้นได้เปิดหูเปิดตาอะไรเราบ้าง ความเข้าใจโลกที่เพิ่มขึ้นคือความรู้ที่เราได้จากงานศิลปะ
เฮเกลกล่าวไว้ว่าในสังคมใดๆ แรกสุดความรู้มาในรูปแบบของงานศิลปะ โดยมนุษย์สัมผัสและมีอารมณ์ร่วมไปกับความรู้ ต่อมาศิลปะแปรเปลี่ยนไปเป็นศาสนา และสุดท้ายกลายเป็นปรัชญา ซึ่งเมื่อสังคมพัฒนาไปถึงตอนนั้นแล้ว ศิลปะและศาสนาก็จะหมดความจำเป็น แน่นอนว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับเฮเกล (ถึงจะเห็นด้วย แต่ด้วยหลักฐานในประวัติศาสตร์ คงเชื่อยากว่าทฤษฎีนี้ถูก) ถึงได้มีนักปรัชญารุ่นหลังพยายามตีความใหม่ว่า เฮเกลหมายถึงพัฒนาการของศิลปะ ศาสนา และปรัชญาในสังคมใดๆ จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันดังนี้
ประเด็นที่น่าขบคิดมากๆ คือวรรณกรรมเพื่อชีวิตในเมืองไทยมันสวนทางกับพัฒนาการของเฮเกล เราเริ่มมาจากการรับปรัชญามาร์ก ซึ่งเมื่อผ่านการตีความในยุคสมัยนั้น ผลิตออกมาเป็นผลงานซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับศาสนา (ที่อิงหลักความเชื่อและศรัทธา) มากกว่าปรัชญา และเมื่อกาลผ่านเลย ตอนนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ได้กลายมาเป็นงานศิลปะสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นงานศิลปะที่น่าสมเพช เพราะหมดโอกาสที่มันจะพัฒนากลับไปเป็นศาสนาและปรัชญา สมกับที่หลายคนออกมาพูดว่าเพื่อชีวิตได้ตายไปเสียแล้ว
ส่วนที่สองของ Philosophy of the Arts แยกย่อยพูดถึงงานศิลปะประเภทต่าง ซึ่งถ้าเป็นส่วน Visual Art หรือวรรณกรรม เราอ่านแล้วก็เฉยๆ เพราะเคยอ่านทฤษฎีพวกนี้มาไม่น้อย แต่ที่น่าตื่นเต้นจริงๆ คือการวิเคราะห์ Performance Art พวกการเต้น ร่ายรำ ละคร รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรมด้วย (เกร็ดความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ คำว่า “หลังสมัยใหม่” มันถือกำเนิดมาจากแวดวงสถาปัตยกรรมนี่เอง)
ส่วนสุดท้ายค่อนข้างผสมปนเปกัน ระหว่างการวิเคราะห์งานศิลปะสมัยใหม่ และทฤษฎีศิลปะประเภทอื่นๆ เช่น ทฤษฎีมาร์กซิส โครงสร้างนิยม รื้อสร้าง แต่สุดท้ายเกรแฮมก็พยายามสรุปว่าทฤษฎีตามแบบของแก (Normative Theory) ซึ่งถามว่าอะไรใช่ ไม่ใช่งานศิลปะนี่แหละ เจ๋งสุดแล้ว
เชื่อไม่เชื่อก็หาอ่านกันเอาเองนะครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment