G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 2)


แม้จะยังอ่านไม่จบทั้งเล่ม แต่ถ้าให้เดา คงเป็นบท AA. Reason ของ Phenomenology of Spirit นี่เองที่ส่งอิทธิพลกับงานเขียนของมาร์ก เมื่อเทียบกับบทอื่น บทนี้จะว่าด้วยแง่มุมทางสังคม เฮเกลกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกและสังคมที่เขาอยู่อาศัย บทสรุปคือปัจเจกชนไม่มีจริง มีแค่ช่องว่างที่เคลื่อนไหวไปมาในความเป็นสากล เฮเกลมองจิตสำนึกของปัจเจกว่าเป็นเพียงภาชนะอันว่างเปล่า เมื่อคนเราเปิดรับโลกภายนอกเข้ามาแล้วรับมือกับโลกภายนอกที่อยู่ภายในอย่างไร การรับมือนั่นต่างหากคือจิตสำนึก ดังนั้นความเป็นปัจเจกก็คือภาชนะอันว่างเปล่า ซึ่งฟังดูแล้วก็คล้ายๆ ปฏิจสมุปบาทอยู่เหมือนกัน ทุกอย่างเป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่บังเอิญเข้ามาผนวกรวมกัน คนเราไม่ได้คิดอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อย่างนั้นเพราะ “เราเป็นเรา” แต่เราถูกหล่อหลอมขึ้นมาให้คิด รู้สึก และกระทำ

บทสรุปทำนองนี้คงยอมรับได้ยากสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเราได้กลายเป็นมนุษย์อัตถิภาวนิยมกันหมดแล้ว เราเชื่อในความเป็นปัจเจก คิดว่าตัวเองพิเศษและมีสิทธิมองโลกภายนอกเสมือนเป็นสิ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอะไรก็ตามแต่ที่อยู่ภายใน เราสามารถเลือกเปิดรับหรือปฏิเสธมันก็ได้ ที่สุดของสิ่งที่เฮเกลพยายามเสนอแนะคือการละลายอัตตา และทิ้งทุกอย่างให้เป็นเพียงเหตุและปัจจัย

ถึงจะมีรากฐานเดียวกับศาสนาพุทธ แต่บทสรุปของเฮเกลค่อนข้างขวาตกขอบ ไม่แปลกใจเลยทำไมมาร์กถึงอยาก “จับเฮเกลตั้งตรง” นัก ข้อสรุปของเขาก็คือความอยุติธรรม การเหลื่อมล้ำของชนชั้นนั้นเป็นสิ่งเหมาะสมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะปัจเจกที่เกิดในสังคมที่มีความอยุติธรรมก็จะผนวกเอาความอยุติธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัว เขาจึงอาศัยอยู่ในความอยุติธรรมได้อย่างสุขสบายเหมือนปลาว่ายในน้ำ

นั่นหมายถึงโลกของเฮเกลเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความสุขอยู่กับสังคมอันบิดเบี้ยวใช่หรือเปล่า ไม่เสมอไป แม้แต่เฮเกลก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความทุกข์เป็นสัจธรรมของชีวิต เขาพยายามให้เหตุผลว่าความทุกข์เกิดจากการไม่สอดคล้องกันของจิตสำนึกในตัวปัจเจกและสิ่งที่พวกเขาแสดงออกหรือกระทำ ดังนั้นโลกที่ปัจเจกเปิดรับเข้าไป (อันประกอบไปด้วยปัจเจกคนอื่นๆ ) จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่สอดคล้องและบิดเบี้ยว ก่อเกิดความ "แปลกแยก" (alienation ศัพท์โปรดของมาร์ก) ระหว่างโลกภายนอกและ (สิ่งที่เขาคิดว่าเป็น) ตัวตน ฟินด์เลย์ ผู้เขียนสรุปย่อท้ายเล่มตีความบทนี้ได้น่าสนใจมาก เขาบอกว่า มันคือคำวิจารณ์ระบบตลาดและทุนนิยมของเฮเกลนั่นเอง

อาจจะเป็นด้วยวันก่อนเพิ่งไปฟังสัมมนาเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์มากระมัง เราถึงได้รู้สึกว่า วิธีคิดแบบเฮเกลน่าเอามาปรับใช้ในประวัติศาสตร์ไทย แทนที่เราจะมองประวัติศาสตร์ว่าเต็มไปด้วย “พระเอก” มากมายผู้มาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำนู่นทำนี่ให้ประเทศชาติ น่าสนใจกว่าคือ อะไรเล่าในสังคมดลให้พระเอกเหล่านั้นลุกขึ้นมาหรือมีศักยภาพพอจะก่อวีรกรรมดังกล่าว ประวัติศาสตร์ควรมีไว้ให้เราครุ่นคิดสงสัยมากกว่าเพื่อความภาคภูมิใจ

No comments: