S. Freud's "Totem and Taboo"


หลานของเราคนหนึ่งปีนี้อายุสามขวบแล้ว กำลังอยู่ในวัยน่ารักน่าชัง พูดจาประสาซื่อ หลานคนนี้กลัวห้องพระมากๆ ไม่ว่าจะเป็นของบ้านหลังไหนรวมถึงของบ้านตัวเองด้วย ถ้าต้องเดินผ่านหรือเฉียดใกล้ห้องพระ จะแสดงอาการว้าวุ่นอยู่ร่ำไป มิพักต้องให้แม่เขาบอกว่า “นี่พระนะลูก นี่พระนะ กลัวพระทำไม” หลานเราก็จะตอบกลับไปว่า “ถึงจะเป็นพระ แต่ก็เป็นผีนะ”

เราว่าบทโต้ตอบสั้นๆ ระหว่างแม่ลูกคู่นี้มีประเด็นชวนขบคิด ไม่ว่าจะในแง่ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา วัฒนธรรม หรือจิตวิทยา ยกตัวอย่าง เช่น การที่แม่ใช้คำพ้องรูปพ้องเสียง “พระ” ซึ่งหมายความได้ทั้งพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ “ผี” ในความหมายแรกจึงหมายถึงวิญญาณศักสิทธิ์หรือเทพสูงสุดตามแบบความเชื่อเทวนิยม และ “ผี” ในความหมายหลังคือมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว (และต่อไปยังคำถามที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเมื่อปรินิพพานไปแล้วจะกลายเป็น “ผี” ประเภทไหน) แต่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องไปหา Totem and Taboo ก็คือความกำกวมระหว่างความรัก ความศรัทธาและความกลัวเกรง

ถ้าให้ฟรอยด์มาวิเคราะห์เด็กพุทธชาวไทย หลานของเรา แกก็คงพูดประมาณว่า แรกสุดในพัฒนาการของเด็กคือความรู้สึกเกรงกลัวภูตผีหรือคนตาย ต่อมาความรู้สึกนั้นถูกนำไปเกี่ยวเนื่องกับรูปปั้น รูปเคารพของคนตาย (พระพุทธรูป) และเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นความกลัวก็จะกลายเป็นความรัก ความศรัทธา ซึ่งนี่ก็คือที่มาของจิตสำนึกทางศาสนาในตัวชาวไทยนั่นเอง

Totem and Taboo ไม่ได้เกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาในตัวปัจเจกอย่างที่เรากล่าวมาในย่อหน้าที่แล้วเสียทีเดียว แต่มันเกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาของผู้คนทั้งสังคม ทำไมชาวป่าชาวดงถึงได้บูชาภูตผีกัน แล้วลัทธินั้นมันพัฒนามาเป็นศาสนา ก่อนจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบันได้อย่างไร

นอกจากนี้ฟรอยด์ยังพูดถึงลัทธิราชานิยมอีกด้วย หมอบอกว่าความรู้สึกศรัทธาในสถาบันการปกครองสูงสุดนั้น ไม่ว่าจะของประเทศใดก็ตาม เป็นความรู้สึกกำกวมที่มาพร้อมกับความอิจฉาและเกลียดชัง ความชื่นชมนั้นคือ Conscious prohibition (ข้อห้ามของจิตรู้สึกนึก) ซึ่งพยายามกด Unconscious Desire (ความปรารถนาของจิตใต้สำนึก) ยิ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือสีใดสีหนึ่ง) เคลื่อนไหวอย่างเอิกเกริกเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดลให้อีกฝ่ายลุกฮือด้วยความแรงเฉกเช่นกัน ส่วนที่ว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้กับปัจเจก คนไข้คนเดียวจะสามารถหยิบยกมาใช้กับทั้งสังคมได้อย่างแม่นยำสักแค่ไหน ทิ้งไว้ให้ขบคิดกันต่อเอง

อ่านจบแล้ว รู้สึกอยากให้ฟรอยด์เกิดเป็นคนไทย คงได้ผลิตงานวิชาการเจ๋งๆ มาให้เราอ่าน ให้เราวิเคราะห์สังคมบ้านเราอย่างลึกซึ้ง

2 comments:

Anonymous said...

ขอบคุณคับที่มีอะไรดีๆ มาให้อ่านอยู่เสมอๆ บทความนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่ขอเห็นแย้งนิดนึงนะคับในแง่ที่ว่า "มันเกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาของผู้คนทั้งสังคม ทำไมชาวป่าชาวดงถึงได้บูชาภูตผีกัน แล้วลัทธินั้นมันพัฒนามาเป็นศาสนา ก่อนจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบันได้อย่างไร" ผมไม่ได้อ่านงานชิ้นนี้ของฟรอยด์ เลยไม่ทราบว่าฟรอยด์อธิบายว่าอย่างไร แต่สำหรับผมในฐานะนักมานุษยวิทยา ผมกลับมองว่าไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ "ความเชื่อ" ไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่มีระบบของมันเอง ไม่ได้ว่าอะไรพัฒนาเป็นอะไรเป็นแนวระนาบเส้นตรงเดี่ยวๆ อย่างที่อ้างมานะคับ การบูชาผีก็ยังมีอยู่และพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามระบบของมันเอง เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่ก็เดินไปตามกรอบการศึกษาหาความรู้ของมัน เราไม่น่าจะนำความเชื่อต่างๆ มาเทียบกันได้ว่าอะไรอารยะกว่ากันนะคับ ผมอยากจะฝากงานที่น่าสนใจของ Feyerabend ให้คุณรักชวนหัวลองหาอ่านดูนะคับ เผลอๆ คุณอาจจะจะอ่านมานานแล้วก็ได้ เช่น Against Method, Farewell to Reason, และ Science in a free society อันหลังนี่ อ.วีระ สมบูรณ์ที่รัฐศาสตร์จุฬาเคยแปลบทบางบทเอาไว้ อ่านแล้วคิดยังไงมาคุยกันนะคับ ~ จรณ์

laughable-loves said...

ขอบคุณมากๆ ครับคุณจรณ์ ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน อยากให้มีมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่มาแสดงความคิดเห็นในบลอคเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ แถมคุณจรณ์ยังอุตส่าห์แนะนำหนังสือดีๆ ให้ไปหาอ่านด้วย ถ้าได้มีโอกาส จะหามาอ่าน มาคุยด้วยแน่ๆ ครับ

เห็นด้วยกับคุณจรณ์ว่าแนวคิดของฟรอยด์ในที่นี้อาจจะเอาตะวันตกเป็นศูนย์กลางไปนิดหนึ่ง (ก็เข้าใจนะ เพราะหมอเป็นคนเมื่อร้อยปีที่แล้ว) ผมคิดว่าฟรอยด์เป็นอะไรที่มีคุณค่าและสามารถปรับมาใช้ในปัจจุบันได้เยอะ แต่ก็คงหยิบมาใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยไม่ไหวเหมือนกันครับ