S. J. Gould's "Ever Since Darwin"

Ever Since Darwin ไม่ได้พูดถึงเฉพาะเนื้อหาเชิงชีววิทยา หรือวิวัฒนาการศาสตร์เท่านั้น แต่ในช่วงท้ายๆ กูลแตะประเด็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั่วไปด้วย สารัตถะของมันคือวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่โดดๆ โดยปราศจากอคติทางการเมือง หรือสังคม นักวิทยาศาสตร์สองคนสามารถหยิบข้อมูลขึ้นมาอ่าน และหาข้อสรุปที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากข้อมูลชุดเดียวกันได้

ตัวอย่างเช่น ในยุคหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงคือสภาพของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่โตเต็มวัย (ตัวอ่อนของมนุษย์มีส่วนที่คล้ายคลึงกับเหงือกของปลา) นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เอาข้อมูลลักษณะทางกายภาพระหว่างคนขาวและคนดำมาเปรียบเทียบกันและสรุปว่า ผู้ใหญ่คนผิวดำคล้ายคลึงกับเด็กทารกคนขาว ดังนั้นคนขาวจึงเป็นอีกขั้นของวิวัฒนาการจากคนผิวดำ

กระนั้นไม่กี่ปีต่อมา ทฤษฎีตัวนี้ก็ถูกอีกทฤษฎีที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเบียดทิ้งไป นั่นคือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่การเจริญเติบโตถูกระงับเอาไว้ (มนุษย์ที่โตเต็มวัยจึงมีลักษณะทางกายภาพหลายอย่างคล้ายคลึงกับลิง) เมื่อนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ดูข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างคนขาวและคนดำ ก็กลับได้ข้อสรุปเดียวกันอีกว่า ผู้ใหญ่คนผิวขาวคล้ายคลึงกับเด็กทารกผิวดำ ดังนั้นคนขาวจึงมีวิวัฒนาการสูงกว่า!

กูลไม่ได้อ้างวาทะอมตะของไอนสไตน์ที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" แต่อ่านจากสิ่งที่แกเขียน ก็พอเดาได้ว่า ถ้าให้กูลตีความคำพูดนี้ คงออกมาทำนอง วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ก้อนอิฐแห่งความรู้แต่ละก้อน นำมาเรียงต่อกันเป็นมหาวิหาร ขนบธรรมเนียม การเมือง และสภาพสังคม ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์อ่านข้อมูลด้วยสายตาแบบหนึ่ง และพยายามยัดเยียดความจริงทั้งหมดให้สอดคล้องกับ "อคติ" หรือ "ทฤษฎี" (นึกถึงคำพูดของเฮอคู ปัวโร "สมมติฐาน ให้สวยหรูแค่ไหน แต่ถ้าอธิบายความจริงไม่ได้แม้เพียงข้อเดียวก็ต้องรื้อทิ้งใหม่หมด"

ผู้ที่มีจินตนาการสูงส่ง คือผู้สามารถคิดนอกกรอบ มองหา "ทฤษฎี" ใหม่ๆ ที่แม้ไม่น่าเชื่อถือสักแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ (เช่นเดียวกับคำพูดของเชอร์ลอค โฮมส์ "ถ้าตัดคำอธิบายที่เป็นเท็จออกไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะไม่น่าเชื่อขนาดไหน ก็ย่อมเป็นความจริง")

ขึ้นต้นเป็นวิทยาศาสตร์ ไหงลงท้ายเป็นนักสืบไปได้นี่!