T. Coletti's "Naming the Rose"
ใน Naming the Rose คอลเลตศึกษาผลงานอมตะของอีโค The Name of the Rose จากแง่มุมสัญศาสตร์ ถึงอีโคจะเขียนชมงานวิจัยชิ้นนี้บนปกว่า "เต็มไปด้วยข้อสังเกตที่ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานตัวเองใหม่อีกรอบ" เรากลับรู้สึกว่าการตีความของคอลเลตตรงไปตรงมา ถ้าผู้อ่านนิยายของอีโคมีพื้นความรู้ภาษาศาสตร์ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม น่าจะจับประเด็นที่ผู้เขียนหยิบยกมาได้เองไม่ยาก
จริงๆ เราไม่ค่อยชอบงานวิจัยวรรณกรรมซึ่งอิงผลงานเป็นชิ้นๆ แบบนี้ เพราะรู้สึกเหมือนถูกจับมือจูงเข้าไปในสถานที่ที่ถ้าเราจะเดินเที่ยวเอง ก็น่าจะเดินได้ (แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีมัคคุเทศก์มาคอยชี้ให้ดูนู่น ดูนี่ ก็คงได้อะไรมากกว่าเยอะ) น่าเสียดายที่ผลงานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาเร็วเกินไป คอลเลตจึงยังไม่มีโอกาสเอาผลงานชิ้นอื่นๆ ของอีโค มาวิเคราะห์ผ่านมุมมองที่ว่า (มันถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปีหนึ่งก่อน Foucault's Pendulum นิยายเล่มที่สองของอีโค)
ข้อสรุปสั้นๆ ของคอลเลตคือ The Name of the Rose แสดงให้เห็นพัฒนาการของสัญศาสตร์ จากแนวคิดแบบ meta-physics ที่บอกว่าสัญลักษณ์คือสิ่งที่ใช้แทน "ความจริง" บางอย่าง มาเป็นแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม ที่สัญลักษณ์คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของทุกสิ่ง ของชิ้นหนึ่ง "เป็น" และ "ถูกเรียก" ด้วยชื่อหนึ่ง เพราะว่ามัน "ไม่เป็น" และ "ไม่ได้ถูกเรียก" ด้วยชื่ออื่นๆ พัฒนาการตรงนี้ปรับเอามาใช้ได้ทั้งเรื่องการเมือง ความรักและอีกมากมาย
โดยส่วนตัวเราสนใจทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมมากกว่า "ชื่อ" ในฐานะ "แรงขับเคลื่อนของความปรารถนา" (movement of desire) การนิยามสิ่งหนึ่งโดยผ่านความว่างเปล่า หรือสภาพไร้ตัวตนของมัน คอลเลตเหมือนพยายามตบโจทย์ตรงนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไปไม่ถึง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment