G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 1)


เอาเข้าจริงๆ มหากาพย์วิภาษวิธีของเฮเกลมีจุดเริ่มต้นที่ง่อนแง่นจนน่าใจหาย คล้ายๆ ทฤษฎีสัญศาสตร์ของอีโคที่เราเคยพูดถึงไปแล้ว กล่าวคือภาษาไม่อนุญาตให้มนุษย์เราจำเพาะเจาะจง สมมติว่าจังหวะนี้ แมวดำตัวหนึ่งกระโดดผ่านหน้าต่างห้องเรา แล้วเราเอ่ยออกมาว่า “แมวตัวนี้สีดำ” สำหรับผู้ฟัง ผู้อ่านทางเน็ตที่ไม่รู้ว่าแมวตัวนี้คือแมวตัวไหน “แมว” (อันเป็นวัตถุรูปธรรม) กลายเป็น “แมวทุกตัวบนโลก” (อันเป็นวัตถุนามธรรม) ต่อให้เราพยายามเจาะจงลงไปอีกว่า “แมวที่กระโดดผ่านหน้าต่างห้องของรักชวนหัวเวลาสามทุ่ม สามสิบหกนาที ของวันที่ 20 เมษายน 2553 สีดำ” ก็รังแต่จะเพิ่มคำขยายให้เกะกะพะรุงพะรัง สุดท้ายก็ต้องมานั่งนิยามเพิ่มเติมอีกอยู่ดีว่า “หน้าต่าง” “ห้อง” “รักชวนหัว” “สามทุ่ม สามสิบหกนาที” “20 เมษายน 2553” คืออะไร

ภาษาไม่สามารถสื่อสารความจำเพาะเจาะจงออกมาได้ นี่คือข้อสรุปของนักสัญศาสตร์ แต่เฮเกลไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง ความคิดความอ่านของมนุษย์เรา (ซึ่งอิงอยู่กับภาษา) ก็ไม่สามารถจำเพาะเจาะจงได้ด้วย ทันทีที่เราเห็นแมวตัวนั้น ภาพ (กลิ่นและเสียง) ของมันเข้าไปตีกันกับความเข้าใจในคุณสมบัติอันเป็นสากลของแมวที่อยู่ในหัวเรา (ตรงนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดของศิลปินอิมเพรชชันนิสต์ที่พยายามวาดภาพสิ่งที่พวกเขาเห็นโดยสลัดทิ้งซึ่งการตีความ) “แมวตัวนั้น” คือวัตถุอัตวิสัย ส่วน “คุณสมบัติอันเป็นสากลของแมว” คือวัตถุภาววิสัย เราไม่อาจเปิดรับหรืออาศัยอยู่ในโลกที่มีคุณสมบัติแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเราเปลี่ยนวิธีมองโลก โลกก็จะเปลี่ยนไปด้วยตัวเอง (อันเป็นที่มาว่าทำไมปรัชญาของเฮเกลถึงถูกขึ้นชื่อว่าเป็น “อุดมคตินิยม” ซึ่งในกาลต่อมาก็ถูกมาร์คจับมากลับหัวกลับหาง “ตั้งตรง” เสียอีกที)

ถ้ายอมรับ (และเข้าใจ) จุดเริ่มต้นตรงนี้ได้ เฮเกลจะนำพาผู้อ่านไปสู่จิตสำนึกที่พิลึกพิลั่นและซับซ้อนมากๆ ถ้าสิ่งที่เราเปิดรับเข้ามาไม่ใช่ “แมวตัวนั้น” แต่เป็น “จิตสำนึก” ของเราเองเล่า ผลลัพธ์ก็คือการสะท้อนกลับไปกลับมาอย่างไม่สิ้นสุดระหว่างตัวเราและสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา (เฮเกลใช้ตั้งแต่คำว่า “ความเป็นอื่น” “การทำลายตัวตน” จนถึง “ความแตกต่าง” ซึ่งสุดแท้แต่จะไปพยายามอ่านกันเอาเองว่าศัพท์พวกนี้มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร) พึงเข้าใจด้วยว่า สำหรับแนวคิดวิภาษวิธีนั้น การสะท้อนกลับไปกลับมานี่แหละที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นจิตสำนึก หาใช่การพยายามสร้างนิยามบริสุทธิ์ของตัวเราและสิ่งอื่นไม่

หนึ่งส่วนสี่ของ Phenomenology of Spirit ผ่านไป เฮเกลมาถึงข้อสรุปที่คล้ายคลึงกับในทางพุทธศาสนามากๆ กล่าวคือมีแต่มนุษย์ที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นปัจเจกเท่านั้นจึงจะผสานตัวเองเข้ากับ “ธรรม” หรือ “ธรรมชาติ” ได้ (อันนี้เราแปล/แปลงเอง เฮเกลใช้คำว่า “จิตวิญญาณ” และ “สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง”) เริ่มจากมนุษย์เอาตัวตนไปสัมผัสสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขา แล้วปล่อยให้จิตสำนึกสะท้อนกลับไปกลับมา โดยไม่ยึดติดด้านใด้ด้านหนึ่ง มนุษย์ผู้ใดมองธรรมชาติเป็นตัวเขา และตัวเขาเป็นธรรมชาติได้ มนุษย์ผู้นั้นรู้แจ้ง

แต่ถ้าไม่เริ่มจากตัวตน เราก็จะไม่มีโอกาสแม้แต่เดินก้าวแรก นึกถึงคำกล่าวของท่านดาไลลามะว่า สุดท้ายแล้วระหว่างปัจเจกและหมู่คณะ ไม่มีความแตกต่างกันเลย หนทางเข้าสู่ความเป็นปัจเจกคือผ่านทางหมู่คณะ และหนทางผสานตัวเองเข้ากับหมู่คณะ ก็ต้องอาศัยปัจเจกในตัวเราเท่านั้น

No comments: