H. Bergson's "Laughter"


การได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของศิลปะแนว Futurism แม้เพียงแค่เล็กน้อย ช่วยให้เราเข้าใจเบิร์กสันและปรัชญาของแกดีขึ้นมาก จำได้ว่า Matter and Memory เป็นหนังสือปรัชญาเล่มแรกๆ ที่เราอ่านและพูดถึงในรักชวนหัวเมื่อสองสามปีก่อน สมัยนั้นก็อ่านต้วมๆ เตี้ยมๆ แต่ตอนนี้ ถามว่าเข้าใจ Laughter ดีแค่ไหน ตอบเต็มปากเต็มคำเลยว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นว่าดีมาก จึงไม่แปลกใจอีกแล้วที่เบิร์กสันได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม/ปรัชญา

หนังสือที่พูดถึงเสียงหัวเราะโดยนักปรัชญาชื่อดัง เท่าที่รู้ก็มีเล่มนี้และของฟรอยด์ โดยทั้งคู่มองไปที่คนละประเด็น ฟรอยด์บอกว่าการหัวเราะเกิดจากการโยกย้ายของสัญญะจากความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิด ผ่าน “ทางด่วนในสมอง” พลังงานส่วนเกินจึงถูกปลดปล่อยออกมาเป็นเสียงหัวเราะ ส่วนเบิร์กสันบอกว่าเสียงหัวเราะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เราตระหนักเห็นความเป็นเครื่องยนต์กลไกที่ปรากฏในตัวมนุษย์ ในสังคมมนุษย์ หรือในสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ (ความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับเครื่องยนต์กลไกนี้เป็นลักษณะเด่นในปรัชญาของเบิร์กสัน ซึ่งส่งอิทธิพลไปยังศิลปะแนว Futurism, Dadaism และ Surrealism) เบิร์กสันอธิบายว่าเสียงหัวเราะและการเย้ยหยันนี้ จริงๆ แล้ว เป็นกลไกทางสังคมอย่างหนึ่งที่คอยป้องกันไม่ให้มนุษย์ทำตัวเหมือนเครื่องจักร

อ่านแค่นี้เราอาจจะเถียงได้ แล้วสมัยก่อนที่มนุษย์เรายังไม่มีเครื่องจักรนี่ คนเราไม่เคยขำกันเลยหรืออย่างไร เบิร์กสันนิยามการทำตัวเหมือนเครื่องจักรว่า คือการทำอะไรบางอย่างลงไปโดยไม่ “อยู่กับร่องกับรอย” เพราะเครื่องจักรเป็นกลไกที่สามารถตั้งโปรแกรมให้เลียนแบบกริยาของมนุษย์ได้ร้อยแปด แต่มันไม่เคยอยู่กับร่องกับรอยในตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าที่ทำแบบนี้แบบนั้นลงไป เพราะสาเหตุใด

หากฟังแค่นี้ เราก็คงพอนึกออกว่าอะไรที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย มันก็ฮาจริงๆ นั่นแหละ แต่ก็เป็นนิยามที่แคบไปนิดหรือเปล่า มันจะไม่มีความขำแบบอื่นเลยหรืออย่างไร ประเด็นนี้คือจุดหลักแหลมที่สุดของ Laughter จากนิยามแคบๆ เบิร์กสันขยายความต่อไปอีกว่า เรามองเห็นความเป็นเครื่องจักรได้ชัดเจนสุดเมื่อเราย้ายกลไกหนึ่งในสังคมมนุษย์จากบริบทเดิมไปหาบริบทใหม่ แต่กลไกนั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งที่กิจกรรมของมันอาจไม่ก่อประโยชน์โภคผลใดแล้วในบริบทใหม่นี้ หรือขัดแย้งกับความเป็นจริงด้วยซ้ำ

ลองเอาแนวคิดตรงนี้มาวิเคราะห์การ์ตูนพี่ต่ายข้างบนดู เนื่องจากคนส่วนใหญ่ คุ้นเคยกับการนั่งหน้าจอทีวีมากกว่ายืนอยู่หลังกล้อง เราจึงคุ้นเคยกับสัญญะระหว่างการมีคลื่นแทรกและการดูทีวีไม่ชัด แต่เมื่อเอาสัญญะหรือกลไกตัวเดิมมาจับบริบทใหม่ คือในห้องส่งสัญญาณ กลไกแบบเดิมก็ยังคงทำงานต่อไปอย่างไม่อยู่กับร่องกับรอย ความขำจึงบังเกิด

หากวิเคราะห์กันจริงๆ แนวคิดของเบิร์กสันเชื่อมไปหาฟรอยด์ไม่ยาก เบิร์กสันถึงกับพูดเลยด้วยซ้ำว่า ความตลกอาศัย “ตรรกะแห่งความฝัน” เหมือนที่เราเห็นได้ในการ์ตูนของพี่ต่ายนั่นเอง นี่เป็นประเด็นที่น่าต่อยอดมากๆ

No comments: