T. Adorno's "Philosophy of Modern Music"


หนังสือบางเล่ม อ่านแล้วก็อดแปลกใจไม่ได้ ทำไมเราถึงเพิ่งได้มาอ่าน Philosophy of Modern Music ตอบคำถามหลายข้อที่เรามีมาตลอดเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค อะไรคือกฎเกณฑ์ นอกเหนือไปจากความพึงพอใจส่วนบุคคล ที่ใช้ตัดสิน ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ศิลปะไร้รูปไร้ร่างเช่นนี้ ถึงแม้อดอร์โนจะเขียนเล่มนี้เพิ่มเชิดชูคีตกวียุคใหม่ (หมายถึงต้นศตวรรษที่ 20) แต่คำอธิบายของเขาก็ช่วยให้เราเข้าใจดนตรีคลาสสิคในภาพรวมกว้างๆ ได้

ที่สุดของที่สุดของดนตรีคลาสสิค (ในที่นี้เน้นเฉพาะยุคหลังบีโธเฟน) คือการแปรเปลี่ยน ระยะห่างหรือสถานที่ให้กลายเป็นเวลา ระยะห่างในทีนี้หมายถึงความต่างของระดับเสียง การเคลื่อนจากคอร์ดหนึ่งไปยังอีกคอร์ดหนึ่ง การสร้างเสียงพื้นฐานขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงดึงดูดเสียงอื่นๆ ความตึงเครียด การเฝ้ารอ การตอบสนอง และการผ่อนปรน เหล่านี้คือเครื่องมือของคีตกวีในการบีบเวลาของผู้ฟัง และยืดมันออก ให้สั้นหรือยาวกว่าเวลาในความเป็นจริง (อดอร์โนให้ตัวอย่างซิมโฟนีหมายเลข 7 ของบีโธเฟนว่าคือสุดยอดแล้วของงานแนวนี้)

แต่การพาผู้ฟังเข้าไปอยู่ในเวลาเทียม สำหรับอดอร์โน คือการหลีกหนีความจริง เป็นการสร้างความแปลกแยกในโลกทุนนิยม (อดอร์โนเป็นผู้ก่อตั้ง Frankfurt school และเป็นนีโอมาร์กซิส ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนไปไม่พ้น) ดนตรียุคใหม่จึงต้องเป็นดนตรีที่ทำลายเวลาลงโดยสิ้นเชิง ในทีนี้เขาหยิบยกมาสองตัวอย่างคือเชอนแบร์กและสตาวินสกี้

เชอร์นแบร์กใช้ 12-tone เทคนิคในการทำลายเวลา เขาแต่งเพลงในแต่ละเส้นโดยใช้โน้ตให้ครบทั้งสิบสองตัวก่อน ห้ามซ้ำกัน ครบสิบสองเมื่อไหร่ ถึงค่อยกลับมาเริ่มชุดใหม่อีกรอบได้ เพลงของเชอร์นแบร์กจึงไม่มีศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง แต่ไหลไปเรื่อยๆ ปราศจากรูปร่าง แนวคิดตรงนี้คล้ายๆ งานศิลปะของแจสเปอร์ จอห์นส์ ซึ่งแต่ก่อนเราดูไม่เป็น แต่รุ่นน้องคนหนึ่งสอนว่า มนุษย์เราจะมีแนวโน้มในการมองหาและสร้าง "ลวดลาย" สิ่งที่จอห์นส์พยายามทำก็คือกำจัดศักยภาพในการมองลวดลายออกไปจากภาพ (เช่น Cross Hatch) ซึ่งผิวเผินเหมือนทำกันง่ายๆ แต่พอลองมาระบายมั่วๆ ก็จะพบว่าลวดลายปรากฏขึ้นมาจริงๆ การ์ตูนแบนๆ อย่าง Tintin ของแฮเกอร์ก็คืออีกตัวอย่างหนึ่งของศิลปะแนวนี้

เทคนิคของสตาวินสกี้สลับซับซ้อน และเข้าใจยากกว่ามาก อดอร์โนบอกว่าสตาวินสกี้เป็นผู้สืบทอดกลวิธีการประพันธ์มาจากแวกเนอร์ และเดบิวซี โดยเฉพาะเดบิวซีซึ่งแต่งเพลงให้มีแต่ความตึงเครียด ไม่ยอมผ่อนโทนของตัวเองลง ผลลัพท์คือเพลงที่เหมือนกับภาพวาดไร้เวลา (La Mer หรือ "ทะเล" เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ) แต่สตาวินสกี้ไปไกลกว่านั้นอีกขั้น เขาไม่ใช่แค่หยุดเวลา แต่ถึงกับย้อนเวลาเลย ดนตรีของสตาวินสกี้คือความบ้าคลั่งที่ดึงมนุษย์กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบป่าเถื่อน แต่ธรรมชาติในทีนี้ไม่ใช่ภาพดื่มด่ำชวนฝัน หากเต็มไปด้วยการบูชายัญ ความเจ็บปวด และทรมาน เป้าหมายทางดนตรีของสตาวินสกี้ สำหรับอดอร์โน ก็คือการทำลายอัตตาและความเป็นปัจเจก ซึ่งเป็นพื้นฐานของกลไกทุนนิยมนั่นเอง (เสียดายที่อดอร์โนแกไม่ชัดเจนเลยว่าเทคนิคทางดนตรีอะไรที่สตาวินสกี้ใช้บริหารจัดแจงความบ้าคลั่งดังกล่าว หรือไม่เราก็อ่านไม่แตกเอง)

No comments: