M. Foucault's "The Archaeology of Knowledge"
มรดกทางวิชาการชิ้นสำคัญที่อาจารย์นพพรหลงเหลือไว้ให้พวกเราคือการนำพาแวดวงวิจารณ์ออกจากกรอบ "เทวาลัยซาบซึ้ง" แต่ขณะเดียวกัน เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเขอะเขินกับแนวทางสัญศาสตร์ของอาจารย์ เหมือนมันยังมีปมยอกแย้งบางอย่าง ขณะที่อาจารย์ต้องการให้เราหลุดจากกรอบคิดแบบปฏิฐานนิยม (positivism) แล้วมองตัวบท (text) เป็นที่สุดในตัวมันเอง แต่ผลสรุปจากการวิเคราะห์เชิงสัญศาสตร์ ถ้าไม่เอาไปจับกับสภาพแวดล้อมเลย มันจะมีคุณค่าอะไร (และสุดท้ายก็เป็นนักสัญศาสตร์เองที่อิงบทวิเคราะห์ของเขากับบริบทของชิ้นงาน)
The Archaeology of Knowledge เตือนให้เรานึกถึงประเด็นข้างต้น สิ่งที่ฟูโกต์พยายามทำ แท้ที่จริงก็มีความยอกแย้งบางอย่าง (ซึ่งตัวฟูโกต์เองก็ยอมรับในจุดนี้) เขาพยายามดึงเอาตัวบทออกจากสภาพแวดล้อม โดยบอกว่าแม้จะเป็นงานของนักเขียนคนเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือทุกเล่มจะต้องเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือไปทางเดียวกัน ขนาดว่าแต่ละข้อความที่ปรากฏในหนังสือเล่มเดียวกัน ฟูโกต์โต้แย้งว่าเราควรมองมันเป็นแต่ละส่วนที่แตกกระจายออกมา ณ จุดนี้จึงเหมือนเขาพยายามทำลายความเป็นเอกภาพแบบปลอมๆ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างตัวบท เหมือนจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่อาจารย์นพพรทำ คือดึงตัวบทออกจากความเป็นเอกภาพของนักเขียน
กระนั้นก็ตาม ที่สุดของ The Archaeology of Knowledge กลับคือการสร้างเอกภาพแบบอื่นขึ้นมาแทน เป็นเอกภาพที่เราอยากเรียกว่าเอกภาพเชิงโครงสร้างนิยม (ตามแนวคิดของจูเลีย คริสเตวา) ฟูโกต์จริงๆ แล้วปฏิเสธโครงสร้างนิยมแบบสุดลิ่มทิ่มประตู สาเหตุคือนักโครงสร้างนิยมในสมัยของแกชอบหาความสัมพันธ์ที่อยู่นอกเหนือตัวบท ที่เชื่อมตัวบทเข้าด้วยกัน ฟูโกต์ไม่เชื่อในการอ่านระหว่างบรรทัด การค้นหาจุดประสงค์อันแท้จริงที่นักเขียนหรือประวัติศาสตร์ซุกซ่อนไว้ระหว่างชิ้นงาน
ฟูโกต์เรียกสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาว่าปฏิฐานนิยมเชิงความรู้ (นี่คือสิ่งที่ฟูโกต์ต่างจากกลุ่มสัญศาสตร์ไทยคือเขาไม่ได้ปฏิเสธปฏิฐานนิยม) มันเป็นปฏิฐานนิยมอันเกิดจากแต่ละตัวบท ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากหนังสือเล่มเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมาจากนักเขียนคนเดียวกัน หากพูดถึงประเด็นหรือหัวข้อเดียวกัน ย่อมส่งผลต่อการตีความตัวบทนั้นๆ ฟูโกต์ขยับขยายข้อสรุปตรงนี้ไปไกลถึงขนาดบอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแท้จริงเลยสักอย่าง ทุกอย่างปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อมีการวิวาทะโดยใช้สิ่งนั้นเป็นประเด็น ด้วยเหตุนี้การจะเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราต้องเข้าใจมันในฐานะสิ่งที่ "ผุด" ขึ้นมาจากโครงสร้างหรือปฏิฐานนิยมเชิงความรู้
ยกตัวอย่างเช่น (อยากใช้ตัวอย่างเรื่องชายแดนไทยเขมร แต่ชักเบื่อๆ ที่จะเขียนเรื่องการเมืองในบลอคนี้แล้ว) ทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษของไอนสไตน์ จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของมันมาจากบทความปี 1905 แต่ถ้าพูดถึงองค์ประกอบของตัววิชา มันเริ่มต้นก่อนหน้านั้นเป็นสิบๆ ปี และบางอย่างก็ต้องรออีกสิบปีกว่าจะได้องค์ประกอบที่ครบถ้วน สัมพันธภาพพิเศษไม่เหมือนทฤษฎีของนิวตัน ซึ่งจับต้องได้ อาศัยนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คน คิดค้น ถ่ายทอดกันมา รวมถึงทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ สัมพันธภาพพิเศษเหมือนความว่างเปล่าที่ค่อยๆ ประกอบสร้างจากวาทกรรมซึ่งโต้เถียงถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ความเร็วแสง การสังเกตดวงดาวที่อยู่ห่างไกล
The Archaeology of Knowledge เป็นหนังสือที่มีความคิดอันยอดเยี่ยม แต่ก็โคตรจะน่าเบื่อในการอ่านเลย นี่เป็นหนังสือของฟูโกต์ที่เราชอบน้อยสุด เหมือนกับแกพยายามวางแปลนเล่มนี้ให้เป็นกลวิธีการศึกษา (methodology) ประวัติศาสตร์ของความรู้ มากกว่าจะตั้งคำถามหรือโต้เถียงทฤษฎี ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ methodology เป็นส่วนที่ไม่น่าอ่านที่สุดแล้ว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment