G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 3)


ในเมื่อเฮเกลตั้งชื่ออภิตำราเล่มนี้ว่า Phenomenology of Spirit คงไม่ผิดกระมัง ถ้าเราจะสรุปว่าบท BB. อันว่าด้วย "จิตวิญญาณ" นี่เองที่เป็นศูนย์กลางของหนังสือทั้งเล่ม

"spirit" หรือจิตวิญญาณเป็นคำที่น่าไตร่ตรองมากๆ ฝรั่งส่วนใหญ่จะคุ้ยเคยกับ "จิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์" อันเป็นหนึ่งในสามภาคของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์ (แต่ก็เป็นภาคที่คนเข้าใจหรือจับต้องได้น้อยสุด) "จิตวิญญาณ" ปรากฏในตำราปรัชญาไม่น้อยเล่ม เด่นสุดรองจาก Phenomenology of Spirit ก็คงเป็น The Birth of Tragedy ของนิทเช่ ตรวจสอบดูแล้วความหมายคล้ายคลึงกัน

ก่อนจะพูดถึงนิยามของจิตวิญญาณ อยากแตะประเด็นหนึ่ง สังคมตะวันออกรวมถึงสังคมไทยมักถูกมองว่าเป็นสังคมแบบ "รวมหมู่" โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสังคมแบบ "ปัจเจก" ของฝรั่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาษาไทยกลับไม่มีคำไหนเลยที่ใกล้เคียงกับ "จิตวิญญาณ" ในความหมายของเฮเกลและนิทเช่ คุ้นๆ เหมือนเคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่าศาสนาพุทธเถรวาทของไทย เป็นพุทธแบบปัจเจก เมื่อเทียบกับพุทธมหายาน จึงเป็นไปได้ว่าคนไทยและคนศรีลังกาอาจเป็น "สมัยใหม่" ก่อนชาวตะวันตกเสียด้วยซ้ำ

ในบท AA. เฮเกลเกริ่นนำถึงปริทรรศน์ว่าด้วยข้อขัดแย้งระหว่างปัจเจกและสังคม ถ้าเราเชื่อว่าความเป็นคนประกอบขึ้นจากสิ่งละอันพันละน้อยที่เรารับเข้าไป เหตุไฉนมนุษย์จึงรู้สึกแปลกแยกจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราได้ง่ายนัก คำตอบของเฮเกลคือ ทันทีที่เราตั้งคำถามนี้ เราก็เข้าใจผิดพลาดตั้งแต่หนึ่งแล้ว

วิธีมองโลกของเฮเกลไม่ได้เริ่มจากปัจเจกไปหาสังคม แต่จุดเริ่มต้นอยู่ที่จิตวิญญาณหรือสังคม คำไทยที่ใกล้เคียงสุดเท่าที่เราจะแปลแถๆ ออกมาก็คือ "วัฒนธรรม" จิตวิญญาณแบบรวมหมู่ในที่นี้ก็คือวัฒนธรรม สิ่งซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุกสมาชิกในสังคมสรรค์สร้างมันขึ้นมา จิตวิญญาณเหมือนน้ำตกซึ่งไหลจากที่สูง เมื่อกระแทกก้อนหินเบื้องล่าง แตกกระเซ็นเป็นฟองฝอยเล็กฝอยน้อย ฟองเหล่านั้นต่างหากคือปัจเจก พูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า มนุษย์คืออุบัติการณ์ทางชีวภาพที่อยู่ๆ ก็มาห่อหุ้มเศษส่วนของจิตวิญญาณเท่านั้น ต่อให้ไม่มีมนุษย์ จิตวิญญาณก็จะอยู่ดีเป็นอิสระด้วยตัวเอง

ฟองฝอยของจิตวิญญาณในตัวมนุษย์เรานี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ "ศรัทธา" และ "เหตุผล" (คำจริงๆ คือ "Pure Insight" แต่เราว่าคำนี้แหละเหมาะสมสุด) ทั้งสองส่วนนี้ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง "เหตุผล" คือ "ภาชนะ" ในตัวมันเองไม่มีอะไร นอกจากกระบวนการวิธีคิดและเข้าใจ ส่วน "ศรัทธา" คือสิ่งบรรจุ ซึ่งก็ไม่ได้สนใจอีกเหมือนกันว่าจะมีที่มาที่ไปจากไหน ความที่ของสองอย่างซึ่งตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเป็นแก่นแท้ของมนุษย์เรา นำไปสู่ความขัดแย้งทางศีลธรรมทั้งหลายแหล่

เฮเกลพยายามนำแนวคิดมหัศจรรย์เช่นนี้มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ถ้าจิตวิญญาณแบบรวมหมู่คือธรรมชาติบริสุทธิ์ของมนุษย์ ความเป็นปัจเจกต่างหากที่ถูกสังคมปรุงแต่งขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อารยธรรมตั้งแต่สมัยโรมันร่างกฎหมายกรรมสิทธิ์ขึ้นมา เพราะการครอบครองคือกลวิธีหนึ่งซึ่ง "ปัจเจก" (ในที่นี้เป็นเพียงเปลือกอันว่างเปล่า) ตอกย้ำความสำคัญของตัวเอง อีกหนทางหนึ่งก็คือภาษา การที่มนุษย์เรามีชื่อ เรียกชื่อคนอื่น และถูกคนอื่นเรียกชื่อคือการสร้างตัวตนให้กับความว่างเปล่า

เวลาอ่านเฮเกล เรามักรู้สึกขัดใจชอบกล อาจเป็นเพราะเฮเกลคือนักคิดคลาสสิกคนสุดท้าย ก่อนที่โลกจะรู้จักเคิร์กการ์ด นิทเช่ และอัตถิภาวนิยม ปรัชญาของเฮเกลถูกเขียนขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคมแบบโบราณ วัฒนธรรมกษัตริย์ เจ้าเหนือหัว และไพร่ทาส จนมนุษย์ยุคใหม่อย่างเรา (และมาร์ก) อดคิดไม่ได้ว่ามีอะไรกลับหัวกลับหางตรงไหนสักแห่ง

No comments: