บางครั้งเราก็สงสัยว่าอะไรแปลกกว่ากัน ระหว่างการจำแนกแยกแยะมนุษย์คนหนึ่ง ออกมาจากตัวอักษร เส้นที่ขีดเขียน ตีพิมพ์อยู่บนกระดาษ กับการรู้สึกว่า ชาวโปแลนด์จากศตวรรษที่ 19 อายุสี่สิบ แต่งงานแล้วแต่คบผู้หญิงพร้อมกันอีกสามคน เป็นนักมายากล ได้รับการกล่าวขานถึงในหมู่โจรและนักงัดแงะตู้เซฟ และเป็นชาวยิวที่กำลังประสบวิกฤติศรัทธา มันเป็นไปได้ด้วยหรือ ที่เราจะรู้สึกว่าชายคนนี้เป็นคนเหมือนกับเรา
ถ้าที่สุดของงานศิลปะ โดยเฉพาะวรรณกรรม คือการสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาบนหน้ากระดาษ ซิงเกอร์ก็ประสบความสำเร็จจนไม่รู้จะยกย่องยังไงดีจาก The Magician of Lublin ช่างน่ามหัศจรรย์ที่เราสัมผัสความเป็นมนุษย์ในยาชา ตัวละครที่มีแบคกราวน์ทุกอย่างต่างจากเราโดยสิ้นเชิง
นิทเชอะ เอเคเอ ซาราทุสซากระมัง ที่เปรียบเทียบชีวิตว่าเหมือนนักกายกรรมเดินอยู่บนเส้นลวด ซิงเกอร์ใช้อุปมาอุปมัยตัวนี้เป็นพู่กัน วาดภาพมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงาม ยาชาใช้ชีวิตที่เหมือนกับนักกายกรรม แม้เขาจะยืนยันกับคนอื่นว่าตัวเองไม่มีศาสนา (พูดให้ถูกคือ ยาชาเชื่อในพระเจ้า แต่เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถติดต่อกับพระเจ้าในโลกนี้ได้ ดังนั้นศาสนาคือการหลอกลวง) แต่ลึกๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนยิวในโปแลนด์ ในศตวรรษที่ 19 การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมได้ปลูกฝังศรัทธา โดยเขาเองไม่ทันรู้ตัว ยาชาพยายามรักษาสมดุลระหว่างความเชื่อและไม่เชื่อ เช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายปม จุดจบของยาชา เกิดจากสมดุลที่พังทลาย ไม่ว่าจะพังเพราะเขาดีเกิน หรือเลวเกินไปก็ตาม
นอกจากตัวละครเอกแล้ว ซิงเกอร์ยังถักทอสภาพสังคม วิถีชีวิตของชาวยิวยุโรปในศตวรรษที่ 19 รวมไปถึงตำนาน และความเชื้อลี้ลับ (สังคมยิวเป็นสังคมปิดมากๆ ชาวยิวที่หลุดจากวงโคจรตรงนี้ ก็จะออกแนวทันสมัย หรือไม่ก็ปัญญาชนจ๋าไปเลย เราคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของแกงสต้าคนดำ หรือมาเฟียอิตาลีเสียยิ่งกว่าคนยิวอีก)
No comments:
Post a Comment