P. Zimbardo's "The Lucifer Effect"


ถ้ามันเขียนดีกว่านี้สักนิดหนึ่ง เราคงพูดได้อย่างเต็มปากว่า The Lucifer Effect เป็นหนังสือที่ห้ามพลาดสำหรับเมืองไทย ซิมบาโดพูดถึงสาเหตุทำไมมนุษย์ทำเรื่องเลวร้ายหรือ พูดให้เจาะจงยิ่งกว่านั้น ถึง "ปล่อยให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นได้"

อุปมาอุปมัยอันเป็นแก่นกลางของหนังสือเล่มนี้คือ ให้นึกถึงรถคันหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และคนขับซึ่งนอกจากจะเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีความรับผิดชอบ หากจู่ๆ คนขับดึงเกียร์ว่าง แล้วปล่อยให้รถไถลลงทางลาดโดยไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่ารถจะเหยียบขยี้บี้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาสักแค่ไหน คนขับก็ยังนิ่งเฉย นั่นแหละคือคำอธิบายของซิมบาโด ว่ามันเกิดอะไรในคุกอาบูการิบ รวันดา หรือเยอรมันช่วงสงครามโลก ไม่สำคัญเลยว่าคุณเป็นคนดีหรือเลว แต่สถานการณ์ต่างหากที่บังคับให้คุณทำเรื่องเลวร้าย หรือปล่อยให้เรื่องเลวร้ายมันเกิดขึ้น

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า คนขับรถที่มีความรับผิดชอบจริง ย่อมไม่ปล่อยรถให้เกียร์ว่างตั้งแต่แรก ในการทดลองโปรดของซิมบาโด นักวิทยาศาสตร์เชื้อเชิญนักเรียนสาขาเทวะวิทยาให้มาเทศน์ "ซามาริทัน" ออกอากาศทางวิทยุ ("ซามาริทัน"เป็นบทหนึ่งในคัมภีร์ไบเิบิล ว่าด้วยชายใจบุญช่วยเหลือคนแปลกหน้าบนท้องถนน แล้วพบว่าจริงๆ คนแปลกหน้าคนนั้นคือเทวดาที่ปลอมตัวมา) ระหว่างทางไปเทศนา อาสาสมัครแกล้งนอนโอดโอยอยู่บนถนน และมีกล้องคอยจับตาดูปฏิกิริยาของนักเรียน ผลปรากฏว่า ยิ่งนักเรียนคนนั้นไปสายเพียงใด ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะไม่ยอมหยุดช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน ในกรณีสายสุดโต่ง ส่งผลให้อัตราการไม่ช่วยเหลือคนแปลกหน้าสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์!

ประเด็นสำคัญของซิมบาโดคือ อย่าประมาทความเลว อย่าคิดว่าเราประเสริฐเสียจนไม่สามารถ "กระทำ" ความเลวได้เลย เพราะความเลวไม่ใช่การกระทำแต่เป็นการปล่อยเกียร์ว่าง (การอยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความชั่วจึงไม่ใช่ความดีงาม แต่ความดีงามต้องมาจากการกระทำด้วย)

มีเทคนิควิทยามากมายที่คิดค้นกันขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้มนุษย์ปล่อยเกียร์ว่าง (ความสายในการทดลองข้างต้นก็คือตัวอย่างหนึ่ง) ที่เราว่าน่าสนใจสุดคือ "Endlosung" เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า "คำตอบสุดท้าย" (ทำเสียงแบบปัญญา) ฮิตเลอร์สามารถหลอกล่อชาวเยอรมันให้รังเกียจและเข่นฆ่าคนยิวได้อย่างไร คำตอบคือเปลี่ยน "สถานการณ์" ให้กลายเป็น "ปัญหา" ฮิตเลอร์ตั้งคำถามแก่ชาวเยอรมันว่าประเทศจะหาทางออกจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างไร เมื่อการสังหารชาวยิว (ถูกนำเสนอว่า) เป็นทางออก ทันใดนั้นคนก็ลืมแง่มุมทางศีลธรรมไปสิ้น

อย่างที่บอกว่าถ้าหนังสือเล่มนี้เขียนดีกว่านี้จะน่าอ่านมากๆ เหมือนซิมบาโดไม่ค่อยแน่ใจว่าอยากให้ใครอ่านกันแน่ คนธรรมดาหรือนักจิตวิทยา บางทีก็ให้รายละเอียดของสิ่งที่ไม่จำเป็นมาเสียยาวเหยียด เช่น 200 หน้าแรกพูดถึง Standford Prison Experiment อันโด่งดังของแก อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าซิมบาโดคงแอบยั๊วะนิดๆ ที่ใครๆ ต่างก็เอาผลงานชิ้นเอกของแกนี้ไปแอบอ้าง ทีนี้ก็เลยเขียนถึงมันด้วยตัวเองบ้าง โดยให้รายละเอียดเสียน้ำท่วมทุ่ง

No comments: