N. Frye's "The Secular Scripture"
ในชีวิตคนหนังสืออย่างเราแล้ว มีคำถามหนึ่งซึ่งชวนให้พิศวงเสมอมา และจนบัดนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ คำถามข้อนี้เริ่มมาจากประสบการณ์แวะเยี่ยมเยียนเวปบอร์ดวรรณกรรม ได้พบปะนัก(อยาก)เขียนหน้าใหม่ ซึ่งในหมู่หน้าใหม่นี้ ก็มีพันธุ์ใหม่รวมอยู่ด้วย พวกพันธุ์ใหม่ประกาศเจตนาว่าข้าอ่านน้อย และไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบเขียนหนังสือ ซ้ำยังเชื่อว่าการอ่านเยอะเป็นพิษเป็นภัย เพราะทำให้งานขาดความเป็นดั้งเดิม
ที่น่าสนใจคืองานของพวกพันธุ์ใหม่นี้ เป็นงานที่ซ้ำซากอย่างน่าเหลือเชื่อ ประมาณเรื่องผู้ชายเบื่องานประจำกินเงินเดือน วันหนึ่งก็เลยตัดสินใจลาออก หลังจากนั้นก็ปล่อยนกเลี้ยงในกรง ซึ่งทันทีที่เจ้านกมีอิสระเสรี โผผินขึ้นฟ้าก็ถูกแมวกระโดดเขมือบ ให้ตายสิ โรบิน เชยกว่านี้มีอีกไหม แน่นอนว่าคนอ่านน้อย รู้น้อยก็ย่อมต้องเขียนหนังสือไม่ดีเป็นธรรมดา แต่ไม่ดีแล้วยังเชยได้เท่านี้ นี่ไม่ใช่เล่นๆ แล้ว
คำถามก็คือเหตุใดคนที่ประกาศก้องว่าตัวเองไม่ยอมอ่านหนังสือ เพราะไม่ต้องการอิทธิพลจากงานเขียนผู้อื่น กลับเขียนหนังสือได้จำเจขนาดนี้
"The Secular Scripture" ของฟรายคล้ายจะไขปริศนาข้อนี้อยู่กลายๆ เหมือนกัน ฟรายเป็นนักโครงสร้างนิยม เขาเชื่อว่ามีโครงสร้าง สูตรลับบางอย่างซึ่งครอบคลุมวรรณกรรมทุกประเภท (อ่านเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมได้จากบลอคเก่า) ในหนังสือเล่มนี้ฟรายพูดถึงโครงสร้างของโรมานซ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่เป็นวรรณกรรมกึ่งๆ เทพนิยาย เรื่องเล่าเหนือจริง ซึ่งคล้ายๆ สิ่งที่เราเรียกว่าวรรณคดี
ฟรายบอกว่าองค์ประกอบของนิยายทุกประเภทมีสองส่วน ภาชนะ หรือว่ารูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้บรรจุ และสานส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุ สานส์ในที่นี้คือธรรมชาติซึ่งผู้เขียนต้องการหยิบจับมาพูดถึง อธิบายแบบเชยๆ ก็ได้ว่าบทเรียน หรือสิ่งที่ถูกสะท้อนจากเรื่อง ซึ่งสานส์ต้องอิงอยู่บนความเป็นจริงในโลก ส่วนภาชนะ หรือรูปแบบต่างหากที่มาจากจินตนาการของนักเขียนล้วนๆ ส่วนนี้คือเรื่องเล่า ประกอบด้วยตัวละคร พระเอก นางเอก ผู้ร้าย ธีม นำเรื่อง การผจญภัย และบทสรุป เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสานส์จากผู้เขียนไปยังผู้อ่าน ฟรายเชื่อว่าแท้จริงแล้ว ภาชนะ หรือรูปแบบนั้นไม่ได้มาจากจินตนาการหรอก หากแต่เป็นสูตร หรือโครงสร้างซึ่งเราหยิบจับมาใช้โดยไม่รู้ตัวต่างหาก "The Secular Scripture" คือความพยายามพิสูจน์โครงสร้างตรงนี้ โดยโยงใยวรรณคดีชาติต่างๆ เข้าหากัน
น่าเสียดายที่ฟรายไม่ได้ลงละเอียดว่าอะไรคือที่มาของโครงสร้างเหล่านี้ (จะมองก็ได้ว่าฟรายเป็นนักโครงสร้างนิยมถึงแก่นแล้ว คือสิ้นสงสัยไปนานแล้วว่าโครงสร้างนั้นมาจากไหน) แกพูดถึงกลายๆ อยู่เหมือนกันว่า อาจจะมาจากจิตวิทยาในตัวมนุษย์ โดยฟรายอ้างทฤษฎีฟรอย บอกว่าสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดคือการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว "ภัยพิบัติ" ซึ่งตัวละครในวรรณคดีจะต้องเจอ มักจะเกี่ยวพันทางใดทางหนึ่งกับเพศสัมพันธ์ในครอบครัว ตรงนี้เยี่ยมเพราะปรับเอามาใช้กับรามเกียรติได้ จริงๆ แล้วโครงสร้างซึ่งฟรายเสนอมาใน "The Secular Scripture" ปรับมาใช้กับวรรณคดีไทยได้ไม่ยากเลย พูดถึงตรงนี้แล้วก็อดติหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมือนกัน ที่ฟรายยกตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นวรรณคดียุโรปแทบจะทั้งนั้น (แต่มีพูดถึง ศกุณตาลา ด้วย)ซึ่งถ้าหลักโครงสร้างนิยมจะเป็นจริง ก็น่าจะเอามาใช้กับวรรณคดีทวีปอื่น
ถ้าทฤษฎีของฟรายเป็นจริง ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนอ่านน้อยจะเขียนหนังสือเชยแหลกออกมา สำหรับนักเขียนแล้ว บางทีคำถามหลักไม่ใช่ว่าต้องเขียนอะไรต่อหรอก แต่เป็นอะไรเล่าซึ่งเขียนไม่ได้ เพราะมันตรงสูตรเกินไปต่างหากที่พวกเขาขบคิดกัน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
3 comments:
ชอบประเด็นเรื่องการไม่อ่านหนังสือเพราะกลัวไม่ออริจินัล มากๆ ครับ
จริงๆ ในโลกคงไม่มีเนื้อหาอะไรที่ออริจินัลอีกแล้ว ถ้าจะแตกต่างก็คงอยู่ที่วิธีการในการเล่าเรื่อง และการใช้ภาษา
ทีนี้ พอไม่อ่าน ภาษาของคนเขียนมันก็วนอยู่เท่าที่มีมาเป็นทุนเดิม พอมีทุนเดิมมาจำกัด ก็ใช้ภาษาได้แค่นั้น แล้วจะตีฝ่า "ขนบของภาษาในการเล่าเรื่อง" ออกไปได้อย่างไร
ส่วนวิธีการเล่าเรื่องนั้นผมว่ามันอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ที่จะแหวกขนบออกไปด้วยลีลาเฉพาะตัว ซึ่งผมเชื่อว่าการที่เราเห็นลีลาที่หลากหลายของคนอื่น เป็ฯต้นทุนให้เราต่อยอดได้ แทนที่จะกลัวไม่ออริจินัล ผมว่าควรกลัวไม่มีรากฐานที่แข็งแรงให้ไปต่อเสียจะดีกว่า
...........
แถมท้ายด้วยการตีมือแก้คำสะกดผิด และการใช้คำผิดความหมาย น้องนักเขียน หนึ่งคำครับ
สาส์น หมายถึง จดหมาย ข้อความ หรือหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อส่งถึงผู้รับเป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องในวาระโอกาสต่างๆ เช่น สาส์นจากนายกรัฐมนตรี สาส์นจากอาจารย์ใหญ่ ฯลฯ
เข้าใจว่าน้องนักเขียนต้องการใช้คำว่า สาร ในความหมายของ massege หรือ ตัวสาร มากกว่า
ส่วนคำว่า สานส์ ไม่มีนะครับ
อายจังเขียนผิด ขี้เกียจแก้ ทิ้งไว้ให้เป็นหนามยอกอกแบบนี้แล้วกัน
กรรม
คุณพี่พิมพ์ message เป็น massege
สรุปว่า เกนครับ คุณน้อง
Post a Comment