E. Graff's "Stepping Left"


หมายเหตุ 1: ชื่อเต็มๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ Stepping Left: Dance and Politics in New York City, 1928-1942
หมายเหตุ 2: บทความชิ้นนี้ไม่เหมือนชิ้นก่อนๆ เพราะจริงๆ แล้วเป็นร่างรายงานที่ทำส่งอาจารย์

ประเทศอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นช่วงเวลาน่าศึกษา สำหรับใครก็ตามที่สนใจประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ และการเมือง เหตุการณ์สำคัญสองอย่างซึ่งส่งผลอย่างมากมายต่อแวดวงการละคร ดนตรี ภาพวาดคือ การล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ และการแพร่กระจายของลัทธิสังคมนิยม ทั้งสองสิ่งเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก การล่มสลายทางเศรษฐกิจส่งผลให้คนมากมายตกงาน ชาวไร่ ชาวนาอพยพหนีพายุฝุ่นมาหาเตะฝุ่นในเมืองหลวง (ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Seabiscuit หรืออ่านหนังสือ Grape of Wrath คงพอคุ้นเคยกับภาพดังกล่าว) รัฐบาลเริ่มออกมาตรการปิดประเทศ ไม่ยอมให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ที่บอกว่าอเมริกาคือดินแดนแห่งโอกาสเริ่มกลายเป็นคำโฆษณาเลอะๆ เลือนๆ ภาพคนยากจนเข้าแถวสมัครงานตามท้องถนนเมืองนิวยอร์ก ขัดกับภาพมหาเศรษฐี และผู้มีอันจะกิน ก่อเกิดจิตสำนึกเรื่องความแตกต่างของชนชั้น สิ่งนี้เองที่เปิดโอกาสให้แนวคิดสังคมนิยมหยั่งรากลึกเข้าไปในจิตใจชาวมหานคร

ศิลปะซึ่งแต่ก่อนเป็นงานอดิเรกชนชั้นสูง เริ่มมีบทบาทที่แปรเปลี่ยนไป หันมารับใช้ และเข้าถึงกรรมาชีพมากขึ้น ดนตรี การร่ายรำ กิจกรรมเพื่อความบันเทิงของประชาชนชั้นสอง (ประกอบด้วยผู้อพยพ คนดำ ชาวไร่ ชาวนา) ครั้งหนึ่งถูกมองว่าไม่คู่ควรกับคำว่า "ศิลปะ" ค่อยๆ ถูกเชิดชูมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงดนตรี และการร่ายรำ เพลงพื้นบ้านซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชาวไร่ชาวนา และดนตรีแจ๊ส รวมไปถึงการเต้นแท็ปซึ่งเป็นวัฒนธรรมคนผิวดำ เริ่มเป็นที่สนอกสนใจของคนทั่วไป ขณะเดียวกันโมเดิร์นแดนซ์ ซึ่งถือกำเนิดก่อนการแพร่หลายลัทธิสังคมนิยมแค่ไม่กี่ปี กลับถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรม "ขุนน้ำขุนนาง" และไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์หัวเอียงซ้าย (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าขัน เพราะแท้ที่จริง กำเนิดโมเดิร์นดานซ์ ก็มาจากความพยายามแตกตัวเองจากบัลเล่ต์ ซึ่งเป็นการเต้นแบบคลาสสิก โบราณ ถ้าพูดกันโดยสปิริตแล้ว โมเดิร์นน่าจะเป็นเป็นตัวแทนลัทธิสังคมนิยมได้ดีกว่าด้วยซ้ำ) สาเหตุที่โมเดิร์นแดนซ์เหมือนจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะเป็นโชว์ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ต้องอาศัยการตีความ ขณะที่การเต้นแบบอื่นๆ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อความสนุกสนานของผู้ดู และผู้เต้น ถ้าจะมี "ประเด็น" ส่งไปหาผู้ชม ก็ทำกันง่ายๆ ชนิดตีหัว บอกกันโต้งๆ เข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายกว่า


ที่จริงนี่ก็เป็นคำถามคลาสสิก สำหรับศิลปินทุกสมัย ทุกประเภท คืองานศิลปะควรจะมี "ประเด็น" หรือไม่ ถ้าจะมีจริง จำต้องเสียสละความงดงามของชิ้นงานสักแค่ไหน คำถามนี้ดูจะเกิดข้อขัดแย้งรุนแรงในแวดวงการเต้นรำมากกว่าศิลปะประเภทอื่นๆ อย่างแรกเพราะการเต้นคือศิลปะที่ปราศจากภาษา ต่อให้อยากมี "ประเด็น" ก็ไม่ใช่จะส่งถึงผู้ชมได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ หนังสือ หรือกระทั่งภาพวาด (เราถึงมีคำว่า interpretive dance แต่ไม่เห็นมี interpretive movie, interpretive book, หรือว่า interpretive painting ก็เพราะมันไม่จำเป็นนั่นเอง) เกิดเป็นสองโรงเรียนถกเถียงกันไม่รู้จบ ว่านักเต้นรำควรมีจิตสำนึกเรื่องสังคม และสื่อมันออกมาในงานแค่ไหน ด้วยวิธีใด มาธา เกรแฮม เจ้าแม่โมเดิร์นแดนซ์ บอกเลยว่าในสตูดิโอของเธอมีแต่เทคนิคการเต้น การเคลื่อนไหว ขยับแข้งขยับขา ไม่ใช่สถานที่ถกการเมือง เกรแฮมเกิดในครอบครัวผู้มีอันจะกิน เธอไม่อาจเข้าใจความยากลำบากของความหิวโหยได้อย่างถ่องแท้ ที่สำคัญ โมแดนซ์ของเธอคือกิจกรรมที่เชิดชูปัจเจคชน ซึ่งตรงนี้ขัดกับความเชื่อทางชนชั้นของสังคมนิยม กระนั้นเกรแฮมเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเธอเก่งกาจเสียจน ต่อให้นักวิจารณ์หัวเอียงซ้ายแค่ไหนยังไม่กล้าโจมตีเธอตรงๆ นักวิจารณ์ในยุคนั้นถ้าไม่ตำหนิเธออย่างอ้อมๆ ก็พยายามขุดหาประเด็นสังคม จากการเต้นนามธรรมของเธอ

ความขัดแย้งตรงนี้เริ่มผ่อนปรนลง เมื่อรัสเซียออกนโยบายสัจนิยมสาธารณ์ (socialist realism ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทวิจารณ์ The Captive Mind) สนับสนุนให้ศิลปินใช้เทคนิคสัจนิยมแบบ "ขุนน้ำขุนนาง" เพื่อสื่อสาร และโฆษณาปรัชญาสังคมนิยม การเต้นแบบ "ขุนน้ำขุนนาง" ในที่นี้ก็คือโมเดิร์นแดนซ์นั่นเอง แม้แต่ตัวเกรแฮมเองก็เริ่มเปลี่ยนไป การเต้นของเธอมีแก่นสาร สื่อประเด็นมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในที่นี้ไม่น่าจะเกิดจากเธอเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิดของตัวเอง แต่คงเป็นการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ และสมัยนิยมมากกว่า


ความขัดแย้งเหล่านี้ค่อยๆ บรรเทาลงตั้งแต่ยุคเริ่ม และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุมาจากหลายประการ ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นเพราะสงคราม ความโหดร้ายของสตาลินทำให้ชาวอเมริกาเริ่มผิดหวังกับลิทธิสังคมนิยม นโยบายแมคคาธีซึ่งไล่ล่าหาผู้สนับสนุน และสปายรัสเซีย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากภาพยนตร์ good night and good luck) ศิลปินเริ่มหันมาสนใจงาน nonrepresentative art งานศิลปะนามธรรมซึ่งไม่สื่อสารปรัชญาใดๆ อย่างชัดเจน (ยุคนี้เองที่ชาวอเมริกันโอบกอดจิตกรโมเดิร์นชั้นนำอย่าง Jackson Polluck) กระทั่ง choreographer หัวเอียงซ้ายหลายคนซึ่งเคยมีผลงานเต้นแสดงความยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ หันมาให้ความสนใจกับความทุกข์อันเกิดจากสภาพจิตใจแทน

tag 5: ผมเป็นนักลีลาศมือสมัครเล่นครับ เต้นมาจะสิบปีแล้ว นอกจากลีลาศ แล้วก็เต้นแท็ปอยู่เหมือนกัน

2 comments:

Boat said...

นี่คงเป็นการเล่น tag ที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ