V. Woolf's "A Room of One's Own"


พออ่าน A Room of One's Own จบ รู้สึกว่าตัวเองน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อห้าหกปีที่แล้ว ถ้าได้อ่านตอนนั้น คงไม่ต้องเสียเวลาเทคปรัชญาเฟมินิสต์ทั้งหลายแหล่ที่เราเคยลง ประหนึ่งตัวเองเป็นนักศึกษาวิชาคริสตศาสนา แล้ววันหนึ่งได้อ่านไบเบิ้ลเป็นครั้งแรก ให้เปรียบเทียบ A Room of One's Own ว่าเป็นไบเบิ้ลของเฟมินิสต์ไม่เกินไปเลยแม้แต่น้อย หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อเขียน ความคิดอันคุ้นเคย วิธีการเหยียดเพศแบบต่างๆ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงผลกระทบ

A Room of One's Own มาจากเลคเชอร์ของวูลฟ์ ซึ่งก็หมายถึงเธอเตรียมเนื้อหา และก็บรรยายสดๆ ให้นักเรียนฟัง หลังจากนั้นค่อยมาดัดแปลงเป็นรูปแบบหนังสืออีกที ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปี 1929 เขาใช้เทปบันทึกเสียง หรือว่าวูลฟ์เขียนขึ้นใหม่จากเลคเชอร์โน้ตกันแน่ แต่รู้สึกว่าถ้าได้อยู่ในห้องนั้น ฟังเธอพูดคงมันส์ ฮาดีพิลึก (ซึ่งต่อให้ย้อนเวลาก็ยังยาก เพราะเข้าใจว่าเขาอนุญาตเฉพาะนักศึกษาหญิงเท่านั้น) ขนาดบรรยายสดๆ ต่อหน้าผู้ชม วูลฟ์ยังสามารถพูดออกมาเป็นกระแสสำนึกได้เลย ไม่แปลกใจแล้วล่ะทำไมเธอเขียนนิยายอย่าง Mrs. Dalloway ออกมาได้

เลคเชอร์ที่ว่าคือหัวข้อ "ผู้หญิง และวรรณกรรม" สรุปสั้นๆ ผู้หญิงจะผลิตศิลปะดีๆ ออกมาได้ต้องมีห้องเป็นของตัวเอง และรายได้พออยู่พอกิน เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย วูลฟ์สรุปว่านี่คือสาเหตุทำไมในประวัติศาสตร์ถึงไม่เคยมีกวี หรือคนเขียนบทละครที่เป็นผู้หญิง สาเหตุตรงนี้เจาะลึกลงไปอีก บางครั้งความผิดก็ตกเป็นของตัวผู้หญิงเองด้วย เช่นว่าบางคนพอมีโอกาสถ่ายทอดความรู้สึกตัวเอง กลับเต็มไปด้วยความขมขื่น และกล่าวโทษอีกเพศหนึ่ง หรือไม่ก็พยายามเขียนเลียนแบบผู้ชาย

อย่างที่บอกแหละ ไม่ใช่ความคิดใหม่ ถึงได้อยากย้ำอีกครั้งว่า A Room of One's Own สมควรเป็นหนังสือที่ทุกคนอ่านแต่เนิ่นๆ

มีใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน ชอบมากเลยที่วูลฟ์เปรียบเทียบว่านิยายไม่ใช่ประโยควางต่อๆ กันบนหน้ากระดาษ หากเป็นสถาปัตยกรรมอันมีประโยคเป็นโครงสร้าง เสา ปูน รากฐาน หรืออีกตอนที่วูลฟ์เปรียบเทียบการเขียนถึงสิ่งที่ไม่เคยมีคนเขียนมาก่อน ประหนึ่งจุดเทียนไขในห้องมืดอับแสง คงมีแต่นักกระแสสำนึกเท่านั้นจะใส่อุปมาโรแมนติกๆ แบบนี้ลงในเลคเชอร์ได้