E. H. Gombrich's "Art and Illusion"


จะโทษเขาก็ไม่ได้ ในเมื่อชื่อหนังสือมันฟ้องอยู่ทนโท่แล้วว่า Art and Illusion หรือ "ศิลปะ และภาพลวงตา" การเอาภาพวาดของมากริต หนึ่งในศิลปินโปรดเรามาขึ้นปก ก็เป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงศิลปะสมัยใหม่แขนงต่างๆ แต่เอาเข้าจริง กอมบริชให้ความสำคัญกับศิลปะโรแมนติก (ศตวรรษที่ 18-19) โดยเน้นภาพวาดทิวทัศน์ ซึ่งมีพระเอกคือจอห์น คอนสเตเบิล (ที่จริงๆ แล้วก็เป็นศิลปินโปรดอีกคนของเราเหมือนกัน)

ก็ต้องยอมรับว่าที่กอมบริชจะเน้นศิลปะแบบโรแมนติกคาบเกี่ยวอิมเพรชชันนั้นก็มีเหตุมีผลอยู่ ในเมื่อประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอคือ "ศิลปะทุกชนิดเป็นภาพลวงตา" ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ศิลปะแบบโรแมนติกที่ใกล้เคียง "ความจริง" มากกว่าศิลปะแขนงอื่นๆ ว่าสุดท้ายแล้ว "ความจริง" ที่เราเห็นนั้นก็คือ "ภาพลวงตา" ชนิดหนึ่ง

ถึงอย่างไรก็ยังอดเสียดายไม่ได้ กอมบริชเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีมาก นอกจากจะวิเคราะห์ได้อย่างหลักแหลมแล้ว ยังมีตัวอย่างภาพประกอบอัดแน่นเกือบสามร้อยรูป เสียดายที่ส่วนใหญ่เป็นขาวดำ (นี่คือหนังสือแบบที่จอร์จ บุชชอบ เพราะมันมีภาพประกอบเต็มไปหมด) ในไม่กี่หน้าที่กอมบริชพูดถึงศิลปะสมัยใหม่เช่นคิวบิสซึม หรือเอกเพรชชันนิส ได้ความรู้ใหม่ๆ มากมายที่คงช่วยให้เราเข้าใจภาพวาดของปิกัสโซได้ดีขึ้น (แต่ตลกมากที่จากหน้าแรกยันหน้าสุดท้าย ไม่มีการกล่าวถึงมากริต หรือเดลีเลย) Art and Illusion ยังช่วยให้เรารู้จักศิลปินโปรดเพิ่มมาอีกสองคนคือดอเมียน (รูปข้างบน) และเซอเวรินิ ศิลปินแนวฟิวเจอริส ที่ผนวกท่วงทำนองของดนตรี การเต้นรำ เข้าไปยังผืนผ้าใบได้อย่างโดนใจ

อยากพูดถึงงานของดอเมียน ซึ่งเน้นการแสดงออกของสีหน้า และอารมณ์ ที่น่าสนใจคือดอเมียนไม่ได้วาดคนจากนายแบบ หรือนางแบบ แต่ใช้การ "ทดลอง" ของลายเส้น กล่าวคือเอาปาก ตา จมูก และศีรษะแบบต่างๆ มาผสมกันจนเกิดเป็นโครงหน้าที่ให้อารมณ์สมจริงสุด กอมบริชพูดได้โดนใจมากว่า ศิลปินแบบดอเมียน ไม่จำเป็นต้องออกไปพบเจอผู้คนจริงก็ได้ แค่เก็บตัวเองอยู่ในกระท่อมหลังเขา และทำการทดลองไปเรื่อยๆ ก็สามารถสร้างอารมณ์ออกมาได้ดียิ่งกว่า ศิลปินที่วาดภาพจากต้นแบบอีก (เป็นการ แอนไทร์ดาวินชี อย่างสุดโต่ง)

ดอเมียนนั้นได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะยุคใหม่ แม้ว่ากอมบริชจะเถียงว่างานของดอเมียนไม่สัมพันธ์กับศิลปะแนวอิมเพรชชันนิส (ซึ่งพยายามลอกเลียนแบบความจริง) แต่เป็นต้นกำเนิดของเอกเพรชชันนัส (ศิลปะที่พยายาม "ลอกเลียน" แบบอารมณ์) มากกว่า เอกเพรชชันนิสที่ดังๆ ก็ได้แก่เอดเวิร์ด มุนช์ โดยส่วนตัว เราผูกพันกับศิลปินประเภทนี้นะ ถ้าให้พูดจากมุมมองของ "คนหนังสือ" สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักกันคือความเปลืองเปล่า ของ "ประสบการณ์" และ "โลกแห่งความจริง"

"making before matching" คือคำขวัญสั้นๆ ของกอมบริช ศิลปะนั้น ไม่ว่าจะแขนงใดๆ ก็ตาม ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะความเป็นงานศิลปะ ก่อนที่จะถูกใส่ความหมายในกรอบของโลกแห่งความจริง

4 comments:

Anonymous said...

ศิลปะ สามารถเป็นไป เพื่อสนองจินตนาการ หรือ เพื่อสะท้อนความจริง

แน่นอน ถ้ามันเป็นไปเพื่อจินตนาการ การประสบพบเจอในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญสำหรับคนสร้างงาน

แต่ถ้าเป็นไปเพื่อสะท้อนความจริง โดยไม่พบเจอความจริงด้วยตัวเอง ก็ต้องเรียกกว่า เป็นแค่การพยายามสะท้อนความจริง ผ่านการค้นคว้ารวบรวม จากความเสมือนจริงอื่นๆ ที่ถูกถ่ายทอดมาแล้วต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งโดยตามธรรมชาติ ความจริงย่อมถูกบิดเบือนไปตามผู้ถ่ายทอด เป็นลำดับขั้น อย่างปฏิเสธไม่ได้ อันนี้เป็นอันตรายข้อที่หนึ่งที่ควรตระหนักไว้

อาจจะมองว่า บางคนที่ไม่เคยเจอประสบการณ์จริง กลับสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ได้"เสมือนจริง"ยิ่งกว่าคนที่เจอประสบพบเจอด้วยตัวเองอีก

อันนี้ ก็อาจจะมองได้ว่า การทำงานศิลปะ มันต้องอาศัยปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง ทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ในการผลิตออกมาเป็นผลงาน ไม่ว่าจะเริ่มจากกระบวนความคิด ไปจนถึงกระบวนการ"จรดพู่กัน" หาใช่เกี่ยวเนื่องกับ ประเด็นที่ว่า มีประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงหรือไม่

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโทษอะไร จึงควรกล่าวโทษ ทักษะการถ่ายทอดของผู้สร้างผลงานเอง
มากกว่าที่จะเป็นเรื่อง การมีหรือไม่มีประสบการณ์ในโลกความจริง

ตราบใดที่การสร้างงานศิลปะที่มุ่งหวังเพื่อสะท้อนความจริง ถูกถ่ายทอดโดยผู้ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรง แต่อาศัยการค้นคว้าวิจัย จากงานของผู้อื่น ซึ่งอ้างอิงจากประสบการณ์จริงของเขาเหล่านั้น ก็ควรจะกล่าวถึงงานของพวกเขาเหล่านั้น อย่างให้เกียรติด้วย

อย่าลืมว่า งานสะท้อนความจริงชั้นรอง ต่อให้ดีเลิศเลอแค่ไหน มันก็เป็นเพียงกิ่งก้านสาขา และมันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากงานที่มาจากผู้ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง

Anonymous said...

...

>>สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักกันคือความเปลืองเปล่า ของ "ประสบการณ์" และ "โลกแห่งความจริง"<<


ไม่ใช่ "ความเปลืองเปล่า" เหล่านี้หรอกหรือ
ที่่เป็นจุดกำเนิด ต่อยอดให้เกิดผลงานอื่นๆ แตกแขนงไปอีกมากมาย

แต่จะว่าไป ก็คงไม่แปลก ในเมื่อคำกล่าวนี้ ถูกเขียนอยู่ในหัวข้อที่กำลังพูดถึง Illusion

mail said...

เคยอ่านงานอมตะ The Story of Art ของ Gombrich แล้วชอบมากๆ คับ จากที่ไม่ค่อยได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับงานศิลปะมาก ก็ทำให้สามารถทำความรู้จักและศึกษาเพิ่มเติมได้อย่างไม่ยาก พอรักชวนหัวมาแนะนำเล่มนี้เลยอยากตามหาอ่านเลยคับ ขอบคุณมากสำหรับรีวิวคับผม

celinejulie said...

I'd like to inform you that you are awarded a Dardos because of your great reviews on books in this blog. You can read the information about this award at my blog.