M. Kammen's "Visual Shock"


ถ้าความขัดแย้งด้านการเมืองในประเทศไทยช่วงสาม สี่ปีที่ผ่านมา จะมีข้อดีอยู่บ้าง ประการหนึ่งคือมันช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าราษฎรอาวุโสคนไหน "มีวิชา" และคนไหนเป็นแค่ "ราษฎรอาวุโส" ประเทศไทยนี่แปลกอย่างหนึ่งคือ ใครๆ ก็ชอบออกมาให้ความเห็นทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะเต่าตุ่นสักแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องศิลปะ ต่อให้ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ก็ได้แต่ยิ้มๆ ผงกศีรษะ ท่องในใจว่าลางเนื้อชอบลางยา

หน้าที่ของศิลปะคือสร้างความขัดแย้ง สร้างข้อถกเถียงให้ผู้คนออกมาปะหมัดกันทางความคิด (จะได้ไม่เอาพลังงานไปปะหมัดกันในเรื่องอื่นที่คอขาดบาดตายยิ่งกว่า) พิพิทธภัณฑ์ศิลปะไม่ใช่สถานที่กล่อมเกลา หรือยกระดับจิตใจผู้ชมด้วยความสวยงาม พิพิทธภัณฑ์ต้องเป็นสนามรบ เป็นเวทีมวย เป็นหม้อต้มเดือด...เอาล่ะ ไม่เสมอไปหรอก แต่อย่างน้อย Visual Shock ก็นำเสนอแง่มุมนี้ของศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาหลักๆ ของ Visual Shock คือความขัดแย้งด้านศิลปะในประเทศอเมริกา บางอย่างก็เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ เช่นความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล และศิลปินนักปฏิวัติ แต่บางความขัดแย้งก็แฝงแง่มุมอื่นด้วย อย่างงานศิลปะที่สร้างด้วยเงินภาษีราษฎร สมควรเป็นงานศิลปะที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนหมู่มากหรือเปล่า ป๊อปอาร์ต หรือศิลปะเพื่อมวลชนถือกำเนิดมาจากกระแสต่อต้านงานศิลปะยุคใหม่ (modern art) ซึ่งเข้าใจได้เฉพาะหมู่คณะ วาฮอล หรือลิคเคนสไตน์ดัดแปลงวัสดุซึ่งพบเห็น และถูกใช้ในชีวิตประจำวันมาเป็นงานศิลปะ แตขณะเดียวกันความ "เพื่อมวลชน" ก็รับใช้กลไกทางธุรกิจด้วย คำพูดของวาฮอลที่เด็ดมากคือ "การทำเงินเป็นศิลปะ การทำงานเป็นศิลปะ และการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจคือศิลปะที่ดีที่สุด" (ไปๆ มาๆ ปัจจุบันป๊อปอาร์ตกลายเป็นงานศิลปะที่เข้าใจยากยิ่งกว่าโมเดิร์นอาร์ตเสียอีก เมื่อเอาคุณค่าทางธุรกิจมาคิดคำนวณแล้ว คนรุ่นใหม่ตั้งข้อกังขาว่าทำไมภาพกระป๋องซุปถึงราคาเป็นล้านได้)

ถึงจะอ่านไปขำไปใน "ความเฉิ่ม" ของคนอเมริกา แต่ขณะเดียวกันเราก็อดอิจฉาลึกๆ ไม่ได้ ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีการถกเถียงอะไรแบบนี้บ้าง คนไทยชอบคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของรสนิยมซึ่งไม่ควรนำมาทับเส้นกัน (ประกอบกับเราไม่มีโครงการทางศิลปะใหญ่ๆ เช่นรูปปั้นราคาเป็นล้านในสวนสาธารณะ) เท่าที่จำได้ ปมขัดแย้งในแวดวงวรรณกรรมเช่น โทษฐานที่รู้จักกัน ของอุดม แต้พาณิช กลายเป็นหนังสือขายดีสุดในประวัติศาสตร์ หรือหนังสือได้รางวัลซีไรต์ซึ่งหลายคนเห็นว่าไม่สมควรอย่าง ความน่าจะเป็น หรือ ความสุขของกะทิ ซึ่งเล่มหลัง ทีแรกเหมือนจะต้มเดือด แต่สุดท้ายไฟก็มอดลงไปเฉยๆ

ถ้าจะมีด้านหนึ่งที่ผู้คนไม่สมควรสามัคคีกัน ก็เรื่องศิลปะนี่แหละ เราควรสนับสนุนให้มีคนอย่างคุณวาณิช ที่ชอบติหนังสือดังๆ พวกผลงานซีไรต์ (แม้จะไม่ค่อยมีเหตุผลในบางทีก็ตาม) เพิ่มขึ้นในบ้านเรา ควรมีองครักษ์พิทักษ์ศิลปินออกมาโต้กับคนที่วิจารณ์นักเขียนที่พวกเขาชื่นชม ควรจะมีเวทีสำหรับให้คนสองประเภทนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และเมื่อมีคนคนหนึ่งตะโกนออกมาว่า "??????? เป็นหนังสือที่ห่วยฉิบหาย!" คนที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ควรตบมือสรรเสริญเขา

ความขัดแย้งโด่งดังล่าสุดคือกรณีภาพยนตร์ แสงศตวรรษ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องการเซนเซอร์ ถ้าคิดแทนศิลปิน ก็เข้าใจได้ว่าทำไมผู้กำกับถึงผิดหวังที่หนังตัวเองไม่ได้ฉายในประเทศบ้านเกิด (ทั้งที่ไปคว้ารางวัลมากมายจากเมืองนอก) แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว หากประเด็นนี้ถูกสานต่อ (ไม่ใช่มอดดับไปเหมือน ความน่าจะเป็น และกระแสหลังสมัยใหม่) บางทีนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรดีๆ ก็ได้

1 comment:

Anonymous said...

เราเพิ่งไปโพสต์ใน screenOUT
ว่า ตรงกันข้าม

เรากลับรู้สึกอยากย้อนอดีต
ไปตอนเด็ก ที่เรามีมุมมองต่อศิลปะอย่างง่ายที่สุด
คือเห็นแล้วชอบ ก่อให้เกิดความสุข จบ