A. C. Bradley's "Shakespearean Tragedy" part 1

เคยคุยเล่นๆ กับผู้กำกับถึงข้อแตกต่างระหว่างนักวิจารณ์เพียวๆ และนักวิจารณ์ที่เป็นศิลปิน ฝ่ายหลังจะให้เกียรติ text (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพวาด หรือภาพยนตร์) มากกว่าฝ่ายแรก พวกเขาถือว่า text ที่ศิลปินให้มาคือที่สุดแล้ว และหน้าที่ของนักวิจารณ์คือการปลุกปล้ำเอาบางสิ่งบางอย่างออกมาจาก text ให้ได้ (ดังนั้นจุดอ่อนของนักวิจารณ์แนวนี้คือการท้าทาย text เราจะฟันธงได้ยังไงว่า text มัน "ไม่ดี"​ โดยไม่ยึดอคติเราเป็นที่ตั้ง)

ในทางตรงกันข้าม นักวิจารณ์ที่เป็นศิลปิน นอกจากจะไม่ค่อยให้เกียรติ text แล้ว ยังแอบซนกับ text เป็นนิสัย โดยการฝึกฝน สิ่งที่พวกเราทำเป็นประจำก็คือการวิจารณ์งานตัวเองนี่แหละ วิจารณ์เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงตรงนู้นตรงนี้ ดังนั้น text จึงไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ คำถามที่เราถามตัวเองไม่ว่าจะอ่าน ชม เพ่ง หรือแดก text ของคนอื่นคือ "จะต้องเปลี่ยนตรงไหน ผลงานชิ้นนี้ถึงจะสมบูรณ์ขึ้น"

เอาเข้าจริง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นักวิจารณ์กลุ่มหลังก็เหมือนจะค่อยๆ ลดน้อยหายลงไปทุกที ตั้งแต่มีทฤษฎีอะไรต่อมิอะไรออกมามากมาย นักวิจารณ์ก็เหมือนจะมีของเล่น มาใช้ทดลองปลุกปล้ำ text อย่างสนุกมือ ดังนั้นไม่ค่อยเกี่ยวแล้วว่านักวิจารณ์จะควบตำแหน่งศิลปินไปด้วยหรือไม่ การวิจารณ์แนวหลังไม่ค่อยปรากฏให้เห็น

แบรดลีเป็นนักวิจารณ์จากศตวรรษที่ 19 เป็นเพียงนักวิจารณ์ไม่กี่คนจากยุคนั้นที่ยังคงหลงเหลือผลงานคลาสสิคมาให้เราอ่าน สมัยที่แบรดลีเขียนและบรรยาย Shakespearean Tragedy ยังไม่มีทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โครงสร้างนิยม หรือมาร์กซิสสายสังคมศาสตร์ ขณะที่ฟรอยด์ (และนักปรัชญายุคถัดๆ มา) ถามว่าทำไมแฮมเลตถึงไม่ยอมฆ่าลุง ศัตรูคู่แค้นของเขาทั้งที่มีโอกาสใน Act III แบรดลีถามคำถามที่เจ๋งกว่านั้นอีก ทำไมการที่เชคสเปียร์เขียนให้แฮมเลตไม่ยอมฆ่า ถึงทำให้บทละครแฮมเลต "สนุก" ขึ้น

ง่ายๆ สำหรับแบรดลี (และนักวิจารณ์ในยุคนั้น) บทละครก็คือบทละคร คุณค่าที่สำคัญที่สุดของมันคือความ "สนุก" การวิจารณ์วรรณกรรมของแบรดลีกลับมาสู่คำถามพื้นฐาน (ที่อาจจะสำคัญที่สุดเลยก็ได้) "ทำยังไงให้ text มันสนุก"

No comments: