T. Rosenberg's "The Haunted Land"
เผด็จการมีอยู่สองแบบคือ "อำนาจนิยม" และ "เบ็ดเสร็จนิยม" อำนาจนิยมฟังดูผิวเผิน เหมือนจะน่ากลัวกว่า เพราะหมายถึงระบบที่ผู้ปกครองมีกำลังทหารล้นฟ้า ไม่พอใจใครที่ไหน อยากได้อะไร ก็ใช้กองทัพไปยื้อแย่งฉุดมา ผู้นำอำนาจนิยม จะไม่หลอกตัวเอง (นัก) ว่าทำนู่นทำนี่เพื่อประชาชน และประชาชนก็จะไม่หลอกตัวเองว่ากำลังสุขีปาน orgasm ที่ได้อยู่ใต้รองเท้าบู๊ตทหาร ประชาชนในอุดมคติของนักเผด็จการอำนาจนิยม คือพวกปิดหูปิดตาตัวเอง หากินไปวันๆ นี่คือเผด็จการทุนนิยมแบบละตินอเมริกา
เบ็ดเสร็จนิยมนั้นตรงกันข้าม มันคือเผด็จการที่ใช้อำนาจผ่านอุดมการณ์ ผู้นำเผด็จการแบบนี้จะเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าตัวเองกำลังทำเพื่อประชาชน มีแต่การเสียสละ (อย่างไม่เต็มใจ) ของคนนับร้อยเท่านั้น ที่จะปกป้องทั้งชาติไม่ให้เป็นเหยื่ออำนาจที่เลวร้ายกว่าได้ ประชาชนในอุดมคติของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม แค่อยู่เฉยๆ อย่างเดียวไม่พอ อันที่จริงพวกที่อยู่เฉยๆ นี่แหละ จะถูกตัดสินว่าเป็นศัตรูของรัฐ ประชาชนต้องแสนสุขี มีส่วนร่วมเสียวกำซาบไปกับการโดนริดลอนอิสรภาพด้วย ("การเต้นรำของเหล่าทวยเทพ" คือคำเปรียบเปรยที่กุนเดระใช้เรียกพฤติกรรมของคนในระบอบแบบนี้) นี่คือเผด็จการคอมมิวนิสต์ แบบยุโรปตะวันออก และสารขัณฑ์แลนด์
ถ้าประวัติศาสตร์ จะให้บทเรียนอะไรอย่างหนึ่งแก่เรา นั่นก็คือ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเหมือนตัวเองจำเป็นต้องเลือก "หนทางที่เลวร้ายน้อยกว่า" (lesser evil) เป็นไปได้มากว่า 1) เรายังไม่เข้าใจสถานการณ์ดีพอ และ 2) อีกทางที่เราปฏิเสธ นอกจากมันจะไม่เลวร้ายน้อยกว่าแล้ว มันอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีเลยก็ได้
ดังเช่นที่จารูเซลสกี ผู้นำโปแลนด์ในยุคคอมมิวนิสต์ บอกตัวเองตลอดเวลาว่าที่สั่งให้ทหารยึดอำนาจ เพราะไม่ต้องการให้รัสเซียส่งกองทัพรถถังเข้ามา ประกอบกับตัวเขาและพรรคพวกมอง Solidarity พรรคซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งความชั่วร้าย ดังเช่น นักการเมือง และประชาชนอีกหลายคนในยุโรปตะวันออก การพูดถึง "หนทางที่เลวร้ายน้อยกว่า" คือหนึ่งในกลวิธีการควบคุมศีลธรรมของเผด็จการคอมมิวนิสต์
The Haunted Land คือผลงานชิ้นเอกของทินา โรเซนเบิร์ก (เข้าใจว่ามันชนะรางวัลพูลิตเซอร์ด้วย) ในปี 1995 โรเซนเบิร์กเดินทางไปยุโรปตะวันออก เพื่อค้นหาว่าผู้ค้นในเยอรมันตะวันออก โปแลนด์ และเชค รับมือกับอดีตของตัวเอง เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างไร (ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยมคือ เมื่อเผด็จการถูกโค่นล้มลงไปแล้ว เฉพาะผู้นำเท่านั้นที่ผิดในระบบอำนาจนิยม แต่เป็นคนทั้งสังคมเลยที่ต้องรับบาปในระบบเบ็ดเสร็จนิยม)
หนังสือน่าอ่านมาก มีฉากหนึ่งติดใจเราที่สุด โรเซนเบิร์กสัมภาษณ์ชาวเยอรมันตะวันออกคนหนึ่ง เมื่อถามว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ชาวเยอรมันตะวันตก พยายามรับมือกับความรู้สึกผิดที่เคยเป็นแขนขาของฮิตเลอร์ คนเยอรมันตะวันออกทำอย่างไร คำตอบคือ "เราไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เพราะเราไม่เคยเป็นนาซี!" ในความหมายของเขาคือ ถ้าฟาสซิสต์คือวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของระบอบทุนนิยม (ซึ่งไม่จริง) ถ้าเยอรมันตะวันออกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็หมายถึงพวกเขาต่อต้านฮิตเลอร์ตั้งแต่แรก พรรคนาซีไม่เคยมีจริงในเยอรมันตะวันออก คำตอบของผู้ชายคนนี้ได้รับการยืนยันจากพิพิทธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของจากสมัยสงครามโลก ด้านนอกพิพิทธภัณฑ์ปักธงประเทศต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อนาซี หนึ่งในนั้นคือธงชาติเยอรมันตะวันออก
ในประเทศแห่งอุดมการณ์ที่ไม่ยอมรับแม้แต่ว่าเราเคยแพ้สงคราม นั่นแหละคือสัญลักษณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment