J. Derrida's "The politics of friendship"


หมดแรงครับ ทีหน้าทีหลังจะหยิบจับตำราปรัชญา คงต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าเป็นนิยาย ขึ้นอยู่กับความอึดเท่านั้นว่าเราจะอ่านจบเมื่อไหร่ จะเบื่อไปก่อนไหม ส่วนหนังสือปรัชญานี่ ถ้ายังไม่พร้อม มีสิทธิหัวระเบิดได้ง่ายๆ พร้อม หรือไม่พร้อมหมายถึงผู้อ่านมีพื้นในเรื่องที่ผู้เขียนนำเสนอแค่ไหน ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ และการเมือง ธรรมดาเราสู้ตายถวายหัว ขนาดนั้น ยังต้องยอมรับเลยว่า The politics of friendship เป็นหนังสือที่อ่านยากสุดในรอบปี ครั้งสุดท้ายที่หัวแทบแตกแบบนี้คือตอนอ่านไฮเดกเกอร์เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งก็อ่านไม่จบเสียด้วยสิ กับ The politics of friendship ตั้งมั่นมากๆ ว่าต้องพิชิตมันให้ได้ ถึงขนาดพัก หยุดอ่านกลางคัน ไปหาชมิตมานั่งอ่านปูพื้นความรู้ตัวเอง

นักปรัชญาก็เหมือนไอติม มีหลายรส หลายแนว เวลาอ่านงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือสังคมศึกษาอื่นๆ พอจับเค้าได้ว่า คนแขนงนี้เขามองปัญหากันอย่างไร คนที่ศึกษาวิชาเดียวกันมักมีวิธีคิดจำเพาะทาง แต่สำหรับนักปรัชญา ขณะที่ถ้าฟูโกต์เป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์ คือใช้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาอธิบายแนวคิดของตัวเอง เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสอย่างเดริดาก็คงเป็นเป็นนักปรัชญา-ปรัชญา The politics of friendship ดึงเอาองค์ความรู้ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล นิทเช่ (ถ้าไม่เคยอ่าน Beyond good and evil มาก่อน คงต้องเสียเวลาไปอีกเป็นอาทิตย์) ชมิท และพอถึงช่วงท้ายๆ มีไฮเดกเกอร์ กับคานด้วย อ่านจนจบแล้วยังไม่แน่ใจเลยว่าส่วนไหนกันแน่ที่เป็นแนวคิดเดริดาจริงๆ

ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย การอ่านเดริดาก็เหมือนได้ศึกษาโครงสร้างวิชาปรัชญา (เรียกคูลๆ ว่า meta-philosophy แล้วกัน) ได้เห็นการเดินทางขององค์ความรู้ วิธีรับส่งลูกระหว่างนักคิิด นักเขียนต่างยุคสมัย ซึ่งจริงๆ นี่อาจเป็นประสงค์แต่แรกของผู้เขียนก็ได้ ให้สรุปแก่น The politics of friendship ก็คือเดริดาติดตามการตีความประโยคสั้นๆ ของอริสโตเติล "O my friends, there is no friend." ซึ่งแปลไทยออกมาพิกลๆ ว่า "เพื่อนเอ่ย ไม่มีเพื่อน" จริงๆ เป้าหมายของแกรวมก็ไปถึงการศึกษาวิธีแปลประโยคนี้จากกรีกดั้งเดิมเป็นเยอรมัน (ผ่านชมิท) และฝรั่งเศส (ผ่านมอนเทจน์ นักเขียนยุคเรอเนซองค์) ขณะที่บางคนก็รับมาเฉยๆ แต่นิทเช่เท่กว่านั้น เพราะแกดัดแปลงใหม่เป็น "Perhaps to each of us there will come the more joyful hour when we exclaim: 'friends, there are no friends!' thus said the dying sage; 'Foes, there are no foes!' say I, the living fool." เชื่อไหมถ้าเราบอกว่าบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับคำว่า "perhaps" ของนิทเช่ ไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดเดริดาถึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง linguistic deconstructionist

ใครที่อยากอ่านจริงๆ เตรียมใจไว้เลยว่างานเขียนชิ้นนี้กระโดดข้ามไปข้ามมา ไม่รู้จะแบ่งบท แบ่ง chapter ไปทำไมในเมื่อความคิดเดียวกันกระจัดกระจายปะปนตลอดทั้งเล่ม ใน The politics of friendship ธีมซึ่งย้อนกลับมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ "perhaps" ของนิทเช่ ทฤษฎีมิตร/ศัตรูของชมิท การใส่ความเป็นผู้หญิงเข้าไปในปรัชญาโบราณ อสมมาตรของความรัก (อริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชวนหัวว่า "รักเขา ดีกว่าให้เขามารักเรา") มิตรภาพผ่านมุมมองเลขคณิต จนถึงกลศาสตร์ระหว่างความรัก และความเคารพของคานท์ (ประเด็นหลังน่าสนใจสุด เสียดายที่เดริดาพูดถึงแค่นิดเดียว)

รับไม่ไหวเหมือนกันกับหนังสือสามร้อยหน้า สาระเต็มเหยียดนี้ เตือนตัวเองไว้แล้ว ตั้งแต่นี้ถ้าเป็นหนังสือปรัชญาขอสั้นๆ สองร้อยหน้ากำลังดี

No comments: